หอการค้าฯ ยื่น Concept Paper ดันรายได้อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย เสริมวิสัยทัศน์ ฮับเกษตร - อาหาร ของรัฐบาล

Last updated: 22 มี.ค. 2567  |  65 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หอการค้าฯ ยื่น Concept Paper ดันรายได้อุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย เสริมวิสัยทัศน์ ฮับเกษตร - อาหาร ของรัฐบาล

วันที่ 22 มีนาคม 2567 หอการค้าไทย จัดงานสัมมนา หัวข้อ “ความท้าทายอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย ปี 2567จะรุ่งหรือจะร่วง” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมการค้า หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ สถาบันการศึกษา และเกษตรกรไทยผลักดันอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทยให้มีศักยภาพ มีมาตรฐาน และมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สอดรับกับวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture and Food Hub)” ของโลก โดยได้รับเกียรติจาก นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกล่าวเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย ปี 2567” ซึ่งภายในงานมีผู้ประกอบการ เกษตรกร นักวิชาการ สถาบันการศึกษา และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 150 คน


นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นโยบายหลักสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ การสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ การรับมือกับภัยธรรมชาติ การปราบปรามการลักลอบการนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย การยกระดับสินค้าเกษตรและเสริมศักยภาพเกษตรกร ตลอดจนการจัดการทรัพยากรและการอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ปริมาณจำนวน 2.07 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.37 แสนล้านบาท โดย 3 สินค้าอันดับแรก ได้แก่ 1) สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ 2) สินค้ากลุ่มน้ำผึ้ง ไข่ นม อื่นๆ และ 3) สินค้ากลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม ปี 2567 คาดการณ์ว่าสถานการณ์การผลิตสินค้าปศุสัตว์จะขยายตัวถึงร้อยละ 1.7 - 2.7 จากปัจจัยสนับสนุนของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นในภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ทั้งในและต่างประเทศยังมีความต้องการต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าสุกร ไก่เนื้อ และโคเนื้อ เป็นต้น


ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า คณะกรรมการธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป หอการค้าไทย ได้ริเริ่มส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงปศุสัตว์ของเกษตรกรไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานตลอด Value Chain ตั้งแต่ปี 2560 โดยปัจจุบันมีการนำร่องใน 8 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น และชุมพร ที่ถือเป็นแหล่งผลิตโคเนื้อสำคัญของประเทศกว่า 3.23 ล้านตัว และมีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกว่า 1 ล้านราย โดยหอการค้าไทยได้ยื่น Concept Paper “การส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)” ให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นแนวทางและรูปแบบสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อและผู้ประกอบการไทยซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตนำไปสู่การยกระดับรายได้ของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ผ่านข้อเสนอที่สำคัญ ดังนี้
1. การยกระดับมาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์ไทย โดยภาครัฐต้องกำหนดเป้าหมายให้ปศุสัตว์จังหวัดในการเพิ่มจำนวนฟาร์มโคเนื้อให้ได้มาตรฐาน GFM ไม่น้อยกว่า 60% รวมถึงพิจารณาส่งเสริมฟาร์มที่มีโอกาสยกระดับฟาร์มสู่มาตรฐาน GAP
2. ส่งเสริมและเพิ่มจำนวนโรงฆ่าสัตว์ โรงตัดแต่งเนื้อสัตว์ โรงคัดบรรจุที่มีมาตรฐาน ในจังหวัดที่เลี้ยงโคเนื้อ
จำนวนมาก เพื่ออำนวยความสะดวกการขนย้ายและลดต้นทุนเกษตรกร ตลอดจนสร้างจังหวัดที่มีศักยภาพเป็น HUB โคเนื้อของประเทศ
3. ส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนพืชรายได้ต่ำ โดยปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นพืชอาหารสัตว์ที่ตลาดต้องการ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงเจรจาผู้ประกอบการเกี่ยวกับตลาดรับซื้อ
4. ส่งเสริมให้ร้านค้าสินค้าปศุสัตว์เข้าร่วมโครงการปศุสัตว์ OK เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าคุณภาพ และสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับแก่ผู้บริโภค
“หอการค้าฯ ยังได้มีการศึกษาการส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อ แพะนม ในจังหวัดกระบี่และจังหวัดภูเก็ต ให้สามารถขยายผลเป็น Role Model ขยายผลสัตว์เศรษฐกิจในกลุ่มภาคใต้อันดามันในอนาคต” ดร.พจน์ กล่าว


ด้านนายอดิศร์ กฤษณวงศ์ กรรมการบริหารหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป กล่าวเสริมว่า การจัดงานในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการธุรกิจปศุสัตว์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เน้นการสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทยและโลก รวมถึงนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐและการขับเคลื่อนของภาคเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดไปสู่การปรับตัว โดยได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองของ 5 กูรู ที่มาจากภาครัฐและเอกชน ในการมุ่งเป้ายกระดับมาตรฐานและรายได้ผู้ประกอบการและเกษตรกรทั่วประเทศ ในประเด็นสำคัญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยในปี 2567 การส่งเสริมสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนจากภาครัฐจากการเปิดเสรีการค้า การแก้ไขปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยที่ยังขาดแคลนและมีราคาสูง การแก้ไขปัญหาการนำเข้าเนื้อสัตว์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงของไทย การสร้างสุขอนามัยของผู้บริโภคผ่านมาตรฐานปศุสัตว์ OK ตลอดจนโอกาสในการทำตลาดอุตสาหกรรมปศุสัตว์และอาหารสัตว์เลี้ยงไทย และการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมโคเนื้อตลอดห่วงโซ่ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย Halal Hub ของเอเชีย ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลต่อไป/ phatheaw รายงาน 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้