เวทีสาธารณะชี้ปมค่าไฟแพงประชาชนควรตื่นตัว แนะรัฐควรสนับสนุนพลังงานสะอาดคนไทยผลิตไฟฟ้าใช้เอง

Last updated: 21 ม.ค. 2566  |  238 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เวทีสาธารณะชี้ปมค่าไฟแพงประชาชนควรตื่นตัว แนะรัฐควรสนับสนุนพลังงานสะอาดคนไทยผลิตไฟฟ้าใช้เอง

ปัญหาค่าไฟแพงกลายเป็นประเด็นร้อนที่กระทบกระเทือนคนไทยทั้งประเทศ โครงการมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะ “ทางออกอยู่ตรงไหน? ค่าไฟไทยในยุคของแพง ค่าแรงถูก” เพื่อทำความเข้าใจถึงราคาค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น 



สฤนี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จัดกัด ชี้ปมปัญหาที่มาว่าไฟฟ้าจัดเป็น สาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐควรจัดให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเที่ยม ในราคาที่ย่อมเยา แต่กลับพบว่าค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น โดยรัฐให้เหตุผลว่า ต้องใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้า ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ซึ่งปีที่ผ่านมาเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซสูงขึ้น เมื่อวิเคราะห์ลงไปในบิลค่าไฟ พร้อมชี้ไปที่ ค่าไฟฟ้าฐาน ยิ่งรัฐสร้างโรงไฟฟ้ามากขึ้น ประชาชนก็ต้องแบกรับต้นทุนนี้มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะโรงไฟฟ้าที่สร้างมานานแล้ว กำลังเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และการตัดสินใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มก็จำเป็นต้องใช้การประมาณการการใช้ไฟของคนในประเทศ ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เกินความจำเป็นมาตลอด ซึ่งตามมาตรฐานควรจะมีสำรองไว้ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยในปี 2544 มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงอยู่ที่ 37 เปอร์เซ็นต์ และในปัจจุบันมีมากถึง 57 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็นไปมากแล้ว  แต่ก็ยังมีการอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

 

ค่าไฟที่แพงที่มาจากราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ได้ใช้ราคาเนื้อก๊าซเท่ากับอุตสาหกรรม โดยเนื้อก๊าซที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และโรงแยกก๊าซจ่าย ใช้ราคาก๊าซเฉพาะในอ่าวไทยเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าราคาก๊าซจากทุกแหล่ง ขณะที่ก๊าซซึ่งใช้ในการผลิดไฟฟ้านั้นมีราคามากกว่า 2 เท่า ผู้บริโภคต้องรับภาระจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาก๊าซ แต่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กลับใช้ก๊าซจากอ่าวไทยในราคาถูกท่อส่งก๊าซ เวลานี้ยังมีลักษณะผูกขาดอยู่ และมีการคิดค่าบริการที่เรียกว่า ‘ค่าผ่านท่อ’ มีการการันตีผลตอบแทน(กำไร) ไว้ในอัตราที่สูงประมาณ 12.5 - 18 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่อะไรก็ตามที่เป็นการดำเนินการแบบผูกขาดก็ควรที่จะเอื้อต่อประโยชน์สาธารณะมากที่สุด

 

 

รองศาสตราจารย์ ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังไฟฟ้า (PDP) ในอดีตจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 3 ปี แต่ปัจจุบันไทยยังคงใช้แผนของปี 2018  ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง การผลิตไฟฟ้าของไทยพบว่า ในปัจจุบันยังมีการใช้ก็าซ LNG ในการผลิตประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ในปริมาณมาก และเป็นก๊าซที่มีราคาแพง นั่นทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และมากไปกว่านั้นไทยยังลงทุนสร้างท่าเรือ LNG สร้างท่อขนส่งก๊าซเพิ่ม ซึ่งจะกลายเป็นภาระมัดมือประชาชนต่อไปไทยจะต้องหยุดอนุมัติ และชะลอการสร้างโรงไฟฟ้า หรือการซื้อไฟฟ้า ที่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลใหม่ หรือก๊าซธรรมชาติ เสนอรัฐต้องเจรจากับเอกชนเพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย เพราะโรงไฟฟ้าที่มีจำนวนมาก หลายโรงไม่ได้เดินเครื่องผลิตมานานแล้ว เพราะไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองล้นเกิน จนกระทั่งโรงไฟฟ้าเหล่านั้นเกือบจะได้เงินทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าคือจากการจ่ายค่าพร้อมจ่ายนี้ โดยที่ยังไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเลย ควรให้มีการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากผลิตงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติ 

 

อาทิตย์ เวชกิจ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่าความล่าช้าในการออกแผน PDP ฉบับใหม่ว่า มีความพยามยื้อเวลาอย่างชัดเจน นอกจากนี้สิ่งที่เรียกว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ยังพบว่าในแผนนี้ได้รวมก๊าซธรรมชาติเอาไว้ด้วย ฉะนั้นเมื่อทำแผนพัฒนาพลังงานออกมาไทยจะไม่มีทางหนีไปจากก๊าซธรรมชาติได้ ที่ผ่านมาไทยพยามเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ ล่าสุดมีการสร้างท่าเรือ LNG แห่งที่ 3 และเร่งสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่สามารถทำนายได้ว่าเราจะเห็นค่าไฟฟ้าแพงต่อไปอีกนานชั่วลูกชั่วหลาน  ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน ประเทศไทยอยู่ในผลกระทบลำดับที่ 9 ของหายนะที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรรม ความเป็นอยู่  ทั้งที่ไทยเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของโลก จากภาคอุตสาหกรรม แผนที่รัฐบาลไทยได้สัญญาไว้ว่า ในปี 2050 จะมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์นั้น ในความเป็นจริงในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และการท่องเที่ยว มีเวลาเพียง 3 - 8 ปี เพราะสินค้าที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย และการท่องเที่ยว หากยังไม่เริ่มต้นการเป็นสังคมลดการปล่อยคาร์บอน จะเผชิญหน้ากับหายนะที่ตามมา การท่องเที่ยวต่อไปจะมีการโชว์ลำดับการปล่อยคาร์บอน หากการท่องเที่ยวของไทยไม่ถูกจัดอยู่ในระดับ Low Carbon การท่องเที่ยวก็จะค่อยๆ หายไป สินค้าที่ผลิตหากไม่ได้รับมาตรฐาน Low Carbon ต่อไปก็จะเจอกับกำแพงภาษี ทำให้ขายไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการและประชาชนสาหัสที่สุดเมื่อวันนั้นมาถึง โรงงานที่เคยมาตั้งอยู่ในประเทศไทยเอง หากไทยยังคงผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติซึ่งปลดปล่อยคาร์บอนสูงก็มีโอกาศที่จะย้ายฐานผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งในเวลานี้สำหรับประเทศไทยยังมองไม่เห็นทางที่จะมีการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า



พลังงานหมุนเวียนมีอยู่เป็นพันเท่าของพลังงานที่ใช้ต่อปี ฉะนั้นหากไม่มีการใช้พลังงานจากฟอสซิลเลยโลกนี้ก็มีพลังงานสะอาดใช้แบบไม่มีวันหมด สำหรับประเทศไทยกลับมีกฎระเบียบที่ให้คงกฎนี้ไว้คือ การไม่ให้มีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ประชาชนผลิตได้เอง 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้