หอการค้าฯ ชูรางวัล“สำเภา-นาวาทอง” เชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผล

Last updated: 14 ธ.ค. 2565  |  146 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หอการค้าฯ ชูรางวัล“สำเภา-นาวาทอง” เชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผล

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 : หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัลสุดยอดหน่วยงานรัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ภายใต้ชื่อรางวัล“สำเภา-นาวาทอง”ประจำปี 2565 เพื่อเป็นการให้กำลังใจและเชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่ปรับปรุงกระบวนงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผล และประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่ได้รับรางวัล โดย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัลและกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การปลดล็อกกฏหมาย กฏระเบียบจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเทศได้อย่างไร ?”


ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลขอแสดงความชื่นชมภาคเอกชนที่ได้จัดรางวัลสำเภา-นาวาทอง ขึ้น โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้รับทราบและมีความยินดีอย่างยิ่งกับการจัดทำรางวัลดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านแผนการปฏิรูปประเทศในด้านกฎหมาย และ กระบวนการยุติธรรม โดยมีหลักสำคัญคือ 1) การยกเลิกกฎระเบียบที่ฟุ่มเฟือย 2) การปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัยตามสถานการณ์ และ 3) การเพิ่มกฎระเบียบที่ควรมี โดยภาครัฐมีความจำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการติดต่อราชการให้สะดวกและรวดเร็ว ช่วยลดการเผชิญหน้า เพิ่มการอำนวยความสะดวก ระหว่างประชาชนหรือภาคธุรกิจกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และเป็นการลดการทุจริตอันเกี่ยวข้องกับการติดต่อราชการทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัลทั้งในระดับกระทรวง ระดับกรม และระดับกระบวนยงาน ต้องช่วยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ผู้บริหารภาครัฐต้องปรับทัศคติในการให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นำไปสู่การส่งเสริมการปฏิรูปและการเดินหน้าปลดล็อกกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่อไป


นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ กล่าวว่า หอการค้าไทย ร่วมกับ กกร. และ คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชนผลักดันการปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ จนในช่วงปี 64 - 65 สามารถปลดล็อกไปแล้วกว่า 938 กระบวนงาน นอกจากช่วยประหยัดต้นทุนได้ถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี ยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่และเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะช่วยกันเร่งดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างชาติให้เร็วที่สุด ภายหลังการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยเสร็จสิ้นลง เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. และพื้นที่ EEC ก็มีความพร้อมรองรับการลงทุนตรงจากทั่วโลก ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนภายในประเทศอาจยังไม่เพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การดึดดูดการลงทุนจึงเป็นเครื่องยนต์สำคัญนับจากนี้ ที่จะช่วยนำเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศ และยังจะได้รับประโยชน์จากกลุ่ม Talent ทั่วโลกที่จะเข้ามาทำงานและอยู่อาศัย เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับคนไทย ดังนั้น การทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วยการสร้าง Ecosystem เพื่อให้เกิด Ease of Doing Business และ Ease of Investment อย่างจริงจัง จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นต่อสายตานานาชาติ จึงเป็นที่มาของการจัดทำรางวัลสุดยอดหน่วยงานรัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ ภายใต้ชื่อรางวัล“สำเภา-นาวาทอง”ประจำปี 2565 รวมทั้ง การมอบประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานภาครัฐในส่วนภูมิภาค ที่อำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคจากการให้บริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจที่ประทับใจ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฎิบัติงานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง


ด้าน นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการสนับสนุนการลงทุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ กล่าวเสริมว่า การเพิ่มศักยภาพหรือขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าได้รับการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานภาครัฐ

การจัดงานมอบรางวัล“สำเภา-นาวาทอง”ประจำปี 2565 ซึ่งถือเป็นปีแรก ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสมาชิกหอการค้าฯ และยังได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ชี้แนะและสนับสนุนข้อมูลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้เกณฑ์และมาตรฐานในการประเมินการตัดสินจากภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากการใช้บริการ และมีทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำหน้าที่ประเมินวิเคราะห์ ใน 4 มิติสำคัญ คือ
1) ประสิทธิภาพในการให้บริการ 2) ผลสัมฤทธิ์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3) สร้างการรับรู้ต่อส่วนรวม และ
4) การประสานความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน พร้อมจัดแบ่งรางวัลออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1) รางวัลหน่วยงานระดับกระทรวง สำหรับหน่วยงานที่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบายที่ชัดเจน
ในการแก้ไขกฏหมาย กฏระเบียบเพื่อลดปัญหาอุปสรรคการให้บริหารภาคธุรกิจ
2) รางวัลหน่วยงานระดับกรม สำหรับหน่วยงานที่มีแผนอำนวยความสะดวกชัดเจนทั้งระยะสั้น ระยะยาว สร้างความเข้าใจการให้บริการผ่านเอกสารเผยแพร่ที่เข้าถึงได้ง่าย และมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ
3) รางวัลหน่วยงานเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนงาน สำหรับหน่วยงานที่มีการปรับกระบวนงานก่อให้เกิดการลดขั้นตอน ทั้งบริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) หรือผ่านแอพพลิเคขั่นการจัดงานในปีนี้ ถือเป็นภารกิจที่หอการค้าฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมให้กำลังใจและชื่นชมหน่วยงานที่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งในที่สุดก็จะเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนของประเทศในระยะยาว ต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้