การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติปี 65

Last updated: 25 ก.ค. 2565  |  359 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติปี 65

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงข่าว “NRCT Talk: รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565” เปิดตัวผลงานวิจัยเรื่อง “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทย หัวหน้าโครงการวิจัย อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะวิจัยประกอบไปด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรพรรณ ทำดี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาสนันทน์ อัศวรักษ์ อาจารย์ประจำสายวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อาจารย์ ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิตินันทน์ ผิวนิล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอาจารย์ว่าน ฉันท์ฉายฉันทวิลาสวงศ์ อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมืองคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดแถลงข่าวฯ ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ชั้น 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 


นายเอนก บำรุงกิจ ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกล่าวว่า

"การนำเสนอเรื่องของงานวิจัยจากนักวิจัยแห่งชาติหรือผลงานสิ่งประดิษฐ์เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะนำผลที่เรามอบรางวัลให้กับนักวิจัยดีเด่นขยายผลให้เป็นที่รับรู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่างๆ ซึ่งแต่ละเรื่องของนักวิจัยดีเด่น มีผลที่ผ่านการพิจารณาแล้วว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพ มีอิมแพคสูง วันนี้เป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงกับยุคสมัยอย่างยิ่งเป็นเรื่องที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดีมากประจำปี 2565 จากการจัดเก็บข้อมูลเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของกลุ่มคนที่เป็นคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเปรียบเทียบกัน ในพื้นที่เมืองหลักและเมืองรอง เป็นตัวเปรียบเทียบได้ว่าเมืองที่มีประชากรหนาแน่นพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับทางทีมงานวิจัยที่ได้รับรางวัล ขอชื่นชมกับผลงานที่จะเป็นผลงานที่จะสะท้อนให้สังคมได้รับรู้ และเฝ้าระวังในบางประเด็นที่นักวิจัยหยิบยกมาให้เห็น เข้ากับยุคพอดี วช.ก็ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลหลากหลายรูปแบบ ก็จะสอดคล้องกันเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย การใช้ชีวิต สังคม การทำงานก็จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ทีมวิจัยก็จะสะท้อนให้เห็นด้วยเช่นกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.จุลนี เทียนไทย กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. และอยู่ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม “คนไทย 4.0” โดยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ผู้ร่วมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ อาทิ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา สถาปัตยกรรมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ฯลฯ จากหลากหลายสถาบัน โดยจุดเน้นสำคัญของการวิจัยครั้งนี้ คือ นอกจากจะต้องการให้ทุกขั้นตอนของการดำเนินการได้นำไปสู่เป้าหมายในการทำความเข้าใจในอัตลักษณ์ วิธีคิด และชีวิตของชาวดิจิทัลแล้ว ยังได้เล็งเห็นถึงคุณค่าจากประสบการณ์ของผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Informants) ซึ่งก็คือ ชาวดิจิทัลในแต่ละกลุ่มอีกด้วย การศึกษาครั้งนี้จึงอาศัยเทคนิควิธีที่หลากหลาย อาทิ แบบสอบถามสัมภาษณ์ การรวบรวมคำศัพท์ การวาดภาพเชิงพรรณนา และการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ประเภทการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก รวมไปถึงการวิจัยการสกัดและวิเคราะห์ข้อความออนไลน์ จากทวิตเตอร์เพื่อที่จะได้คำตอบวัตถุประสงค์การวิจัยได้สมบูรณ์ที่สุด โดยเก็บข้อมูลจากประชากรกลุ่ม Gen Y และกลุ่ม Gen x รวมทั้งสิ้นจำนวน 960 คน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1) “ประชากรดิจิทัล” จำนวน 910 คน เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2524 - 2549 มีอายุอยู่ที่ 13-23 ปี จัดเป็น “ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่” ส่วนผู้มีอายุ 24-38 ปี จัดเป็น “ชาวดิจิทัลรุ่นเก่า” และ 2) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับชาวดิจิทัล จำนวน 50 คน ได้แก่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชา ทั้งนี้ ประชากรทั้งสองกลุ่มอยู่พื้นที่การศึกษาหลัก 3 จังหวัดคือ 1) กรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนเมืองหลวง 2) จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนเมืองหลัก และ 3) จังหวัดนครพนม เป็นตัวแทนเมืองรอง



อีกหนึ่งข้อค้นพบสำคัญของการศึกษาครั้งนี้ คือ การพัฒนาของเทคโนโลยีได้ส่งผลให้พฤติกรรม การปฏิสัมพันธ์ และบรรทัดฐานสังคมเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงทำให้เกิดการสร้างบรรทัดฐานใหม่ เช่น การเลือกปฏิบัติต่อกัน การตัดสินความผิด-ชอบ ชั่ว-ดี การใช้ภาษา การสร้างและนำเสนอตัวตน วิธีคิดต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องทักษะที่จำเป็น ความคิดและพฤติกรรมในการเรียนรู้ อีกทั้งความสัมพันธ์ของครอบครัวก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย ตลอดจนการเกิดปัญหาการใช้ชีวิตและปัญหาสุขภาพรูปแบบใหม่ รวมถึงความฝัน ความหวัง และความกลัวที่ถูกกำหนดโดยโครงสร้างสังคม

เมื่อกล่าวถึงอัตลักษณ์ของชาวดิจิทัลไทย พบว่า มีการซ้อนทับกับอัตลักษณ์ของชาวดิจิทัลที่กล่าวไว้ในระดับสากล ได้แก่ การต้องการความรวดเร็ว (Need for Speed) ความตื่นตัวต่อข่าวสาร (Information Alertness) การมีวิถีชีวิตเชื่อมโยงกับการออนไลน์ (Interactive) การมีส่วนร่วมกับสังคม (Civic Engagement) การมีอิสระในตนเอง (Independence/Freedom) กล้าแสดงความคิดเห็น (Free Expression) ยืนหยัดเพื่อสิทธิของปัจเจก (Stand for Individual Rights) และยอมรับในความหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity) อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอัตลักษณ์บางประการที่ชาวดิจิทัลไทยยังไม่หลุดจากกรอบสากลแต่ผสมผสานผ่านบริบทสังคมไทย เช่น การใส่ความสนุกสนานแบบคนไทยเข้าไปในวิถีออนไลน์ของตน เป็นต้น



เพื่อให้ข้อค้นพบจากโครงการวิจัยนี้ได้เข้าถึงคนในสังคมมากขึ้น ทางคณะวิจัยจึงได้พยายามนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยออกมาในหลายรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการรับข่าวสารของคนหลากหลายกลุ่ม อาทิ ในรูปแบบ E-book และรายงานฉบับสมบูรณ์ที่สามารถ download ได้จากเว็บไซต์แผนงานคนไทย 4.0 การผลิตสื่อภาพยนต์สั้นที่สร้างจากส่วนหนึ่งของผลการวิจัย เพื่อให้ผู้ปกครองและเยาวชนเกิดความเข้าใจกันในมุมมองของการใช้สื่อออนไลน์ การเขียนบทความในวารสารวิชาการ บทความออนไลน์ การนำไปใช้ในการเรียนการสอนของคณาจารย์ในทีมเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนรุ่นใหม่ในการทำความเข้าใจทั้งกับตนเอง คนรุ่นเดียวกัน คนต่างรุ่น และคนรุ่นต่อไป ทีมวิจัยจึงมีความมุ่งหวังว่าการเผยแพร่หลากหลายช่องทางในรูปแบบที่สอดคล้องกับผู้รับสารจะนำไปสู่การใช้งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อคนในสังคมได้อย่างแท้จริง

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้