อพวช. ให้การต้อนรับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งมองโกเลียประจำประเทศไทย หารือความร่วมมือพิพิธภัณฑ์

Last updated: 13 มี.ค. 2565  |  248 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อพวช. ให้การต้อนรับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งมองโกเลียประจำประเทศไทย หารือความร่วมมือพิพิธภัณฑ์

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือ กับ นายทูมูร์ อามาร์ซานะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งมองโกเลียประจำประเทศไทย เพื่อร่วมกันดำเนินงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านพิพิธภัณฑ์ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และธรรมชาติวิทยา ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรม อันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เยาวชนและประชาชนของทั้งสองประเทศต่อไป


ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “อพวช. มีภารกิจหลักในการส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ และปลูกฝังให้เยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนสนุกกับการค้นพบเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ผู้เข้าชมสามารถมาเรียนรู้และค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง

ปัจจุบัน อพวช. เปิดให้บริการ 4 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ที่ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี และแหล่งเรียนรู้อีก 3 แห่งตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา” กรุงเทพฯ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เชียงใหม่” และ “จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช” รวมถึงการจัดนิทรรศการเคลื่อนที่สู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรม “คาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช.” เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปสู่เยาวชนและประชาชนตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ อพวช. ถือว่ามีความเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนานิทรรศการและกิจกรรมในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และธรรมชาติวิทยาอันดับต้นๆ ของประเทศ



สำหรับการหารือความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลียในครั้งนี้ อพวช. มีความยินดีที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งในด้านนิทรรศการ กิจกรรม และพิพิธภัณฑ์ โดยการนำนิทรรศการจาก อพวช. ไปจัดแสดง ณ สาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย และนำนิทรรศการของสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลียมาจัดแสดง ณ ประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองประเทศได้รับประสบการณ์และแรงบันดาลใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และธรรมชาติวิทยา และถือว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีระหว่างกันอีกด้วย”

นายทูมูร์ อามาร์ซานะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งมองโกเลียประจำประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย กล่าวว่า “สำหรับการหารือในครั้งนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากมีโอกาสได้เห็นกิจกรรม “คาราวานวิทยาศาสตร์” (Science Caravan) ของ อพวช. จึงเกิดแรงบันดาลใจให้กับสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย เพราะถือเป็นโมเดลกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และกระจายไปทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากประชากรมีการอาศัยกระจายตัวอยู่ตามแต่ละภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ จึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น โมเดลของ อพวช. จึงมีความน่าสนใจอย่างมาก และสามารถกระจายโอกาสการเข้าถึงความรู้ของเยาวชนและประชาชนได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย ได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกโลก วัฒนธรรม และธรรมชาติ และยังมีซากฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมาก ซึ่งมีความสอดคล้องกับงานด้านบรรพชีวินวิทยาของ อพวช. ที่ได้ดำเนินการอยู่ ซึ่งสามารถนำชิ้นส่วนเหล่านี้มาร่วมจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ของ อพวช. ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับประชาชนคนไทยได้ต่อไป

นอกจากนี้ ทาง อพวช. ยังมีนิทรรศการภูมิปัญญาไทย (Traditional Thai Technology) ที่น่าสนใจซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ในของเล่นภูมิปัญญาไทย ที่อิงหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างสรรค์ความสนุกควบคู่กับการเรียนรู้ ซึ่งเกิดขึ้นจากการคิดค้น การทดลอง การเล่น บนพื้นฐานหลักการทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่กับการเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี สังคม และวิถีชีวิตแบบไทยในของเล่นพื้นบ้านของไทย หรือของเล่นไทยโบราณได้อย่างผสมผสานและกลมกลืน โดยทางสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลียมีความยินดีที่จะนำของเล่นภูมิปัญญาของประเทศมองโกเลียมาร่วมจัดแสดงกับ อพวช. ได้ในอนาคต”

 

การหารือความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการศึกษารายละเอียดในโครงการและกิจกรรมดังกล่าวเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและเป็นไปเจตนารมณ์ด้านการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สู่สังคมของทั้งสองประเทศต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้