“โดรนแปรอักษร” รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ดีเด่น ปี 64 พร้อมโชว์สร้างสีสัน ในวันนักประดิษฐ์ 2-6 ก.พ.ใบเทค บางนา

Last updated: 3 ก.พ. 2565  |  295 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“โดรนแปรอักษร” รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ดีเด่น ปี 64 พร้อมโชว์สร้างสีสัน ในวันนักประดิษฐ์ 2-6 ก.พ.ใบเทค บางนา

นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล จากสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เจ้าของผลงาน Drone Swarm Software นวัตกรรมการเรียนรู้การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษร เข้ารับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น ปี 2564 ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 -2565 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา


นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล กล่าวว่า นวัตกรรมโดรนแปรอักษร (Drone Swarm Software) ที่พัฒนาขึ้นโดยสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เป็นโดรนสัญชาติไทย ที่ผลิตโดยคนไทย ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย และเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ โดยสามารถควบคุมโดรน ให้บินขึ้นพร้อมกันครั้งละหลาย ๆ ลำ และจัดเรียงตำแหน่งตามที่กำหนดโดยการสั่งงานจากคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว ซึ่งสมาคมฯ มีทีมเยาวชนนักประดิษฐ์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า การสร้างและการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่มีประสิทธิภาพการทำงานทัดเทียมกับของต่างประเทศ เช่น อเมริกาและจีนที่เป็นผู้นำในด้านนี้ โดยที่ผ่านมาได้นำไปจัดแสดง ในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และตอบสนองแนวโน้มการนำโดรนแปรอักษรมาใช้แสดงแทนการจุดพลุไฟมากขึ้น เพื่อลดการก่อเกิดมลภาวะทางอากาศ ให้สามารถลอยอยู่บนท้องฟ้าได้นานกว่า และสามารถแสดงเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้หลากหลาย




นับว่าเป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำนำสมัยไปอีกขั้น มีศักยภาพและความสามารถในการต่อยอดเชิงธุรกิจ เพื่อจัดแสดงโดนแปรอักษรในงานต่าง ๆ สามารถกำหนดรูปแบบการแสดงได้ โดยเสียงไม่ดังเกินไป ลดอัตราการเกิดอัคคีภัยจากการจุดพลุ และสามารถใช้ในภารกิจด้านการขนส่งลำเลียงสิ่งของ ด้านการเกษตรเพื่อจัดการการเพาะปลูก และในภารกิจบรรทุกสารเคมีดับเพลิงเพื่อดับไฟป่า นอกจากนี้ ทางสมาคมยังร่วมกับองค์กรต่าง ๆ อาทิเช่น วช. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จัดการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับโดรนให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่อไป โดยเยาวชนที่สนใจร่วมเรียนรู้ สามารถเข้าร่วมโครงการหนูน้อยเจ้าเวหากับสมาคมฯ ได้


“รู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เยาวชนทีมวิจัยของเราจะได้นำสิ่งที่พัฒนาขึ้นเพื่อคนไทย มาช่วยสร้างคน สร้างอาชีพ และได้นำมาจัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 -2565 ในครั้งนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเวทีของเราในการเผยแพร่องค์ความรู้สู่เยาวชนในการนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแข่งขัน การกีฬา หรือเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าเด็กไทยมีศักยภาพสามารถทำได้อย่างแน่นอน” นายพิศิษฐ์ กล่าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้