ดร.วิภารัตน์ ลงพื้นที่ต้นแบบ “บ้านบุญแจ่ม” จ.แพร่ เปิดศูนย์เรียนรู้ “ชุมชนไม้มีค่า”ปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซ่า

Last updated: 1 พ.ย. 2564  |  550 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ดร.วิภารัตน์ ลงพื้นที่ต้นแบบ “บ้านบุญแจ่ม” จ.แพร่ เปิดศูนย์เรียนรู้ “ชุมชนไม้มีค่า”ปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซ่า


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จับมือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ –แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ลงพื้นที่ ถ่ายทอดทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม การปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา พร้อมเปิดศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ ชุมชนไม้มีค่า เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมี นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล ปลัดจังหวัดแพร่ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.สุจิตรา โกศล หัวหน้าโครงการจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผศ.ดร. วรรณา มังกิตะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ร่วมพิธีเปิดป้าย “ชุมชนไม้มีค่า” บ้านบุญแจ่ม ตำบลน้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา

 

 

 

 

“ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติเปิดเผยว่า


“เข้ามาแล้วเห็นความเขียวชอุ่มเห็นการเติบโตของต้นไม้ เห็นภาพของชุมชนดูดีมีสุข ซึ่งเป็นส่วนหลักในเรื่องของการนำตัวงานการวิจัยมาทำงานร่วมกับพื้นที่เป็นความร่วมมือ ของวช.และวว. ในการนำความรู้ความเข้าใจมาช่วยแก้ปัญหา ยกระดับประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการผลิต รวมถึงการลดต้นทุนและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร งานไม้มีค่า เป็นงานตามมติครม.เมื่อ 2-3 ปีมาแล้ว วช.ได้รับมอบหมายเรื่องการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าให้กับทางชุมชนพี่น้องเกษตรกร เป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ระยะยาว ซึ่งมีพาร์ทเนอร์มาร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิกรมป่าไม้ดูแลเรื่องของพรรณไม้ ธ.ก.ส.ทำเรื่องของประเมิน ฯลฯ การทำเกษตรใต้ร่มเงา ส่งเสริมให้มีการปลูกทั้งสมุนไพรและเห็ด อ.สุจิตรา เป็นทีมงานที่เข้มแข็งของอ.ชุติมา ซึ่งทำเรื่องนี้มา 2-3 ปีแล้ว ครั้งแรกเห็นชื่อเห็ดไมคอร์ไรซาเป็นภาษาอังกฤษ ก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านจะเข้าใจหรือเปล่า แต่หลังจากที่ได้ติดตามงานมาแล้ว พบว่าชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แถมยังมีเห็ดประเภทอื่นต่อเนื่องมาอีกด้วย

ที่สำคัญคือชุมชนบ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่แห่งนี้ได้รับรางวัล เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ในการเดินหน้าต่อไป ในการทำให้พื้นที่ต้นแบบแห่งนี้ได้รับการยอมรับเป็นศูนย์การเรียนรู้ ยอมรับที่จะมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมและนำการดำเนินงานไปเพิ่มพื้นที่ทั้งในจังหวัดแพร่และโซนภาคเหนือ ซึ่งนอกเหนือจากงานวิจัยแล้ว ความร่วมมือในชุมชนมีความสำคัญในการสร้างความตระหนักร่วมกัน เหล่านี้เป็นผลสำเร็จจากการวัดผล การลงพื้นที่ในการตรวจเยี่ยมเห็นภาพต้นไม้เติบโตก็จะเป็นประโยชน์ในการนำงานการวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์สร้างโอกาสและสร้างรายได้ในพื้นที่ให้กับประชาชน"

ดร.สุจิตรา โกศล หัวหน้าโครงการจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)เปิดเผยว่า

“ป่าเป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะเห็ดไมคอร์ไรซา เช่นเห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไคล้ เห็ดน้ำหมาก เห็ดแป้ง เห็ดถ่าน ที่เกิดดอกโดยอาศัยระบบรากของพืชชั้นสูงเกื้อกูลกัน แต่เมื่อป่าถูกทำลายจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้ผลผลิตจากป่าโดยเฉพาะเห็ดลดทอนความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ชุมชน ดังนั้นการส่งเสริมปลูกไม้มีค่าพร้อมๆ กับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซ่าในพื้นที่อย่างเหมาะสม

จนเกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบ และพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ดูงาน ชุมชนบ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ โดยทดลองนำเชื้อเห็ดตับเต่าที่เพาะเลี้ยงเส้นใยบนเมล็ดข้าวฟ่าง ใส่ลงไปที่รากของต้นหางนกยูง อายุ 1 ปี

ดูแลให้น้ำสม่ำเสมอ เห็ดตับเต่าออกดอกให้ผลผลิตทั้งปี ดอกเห็ดมีขนาดสมบูรณ์ ขนาด 100-700 กรัมต่อดอก สะท้อนให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกันของเห็ดไมคอร์ไรซาส่งเสริมการเจริญเติบโตผลผลิต และคุณภาพของพืชเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
“เห็ดไมคอร์ไรซามีคุณสมบัติพิเศษสามารถย่อยสลายฟอสเฟตได้ ซึ่งพื้นที่ทั่วไปมีฟอสเฟสเยอะมาก แต่พืชไม่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เห็ดไมคอร์ไรซาจะไปย่อยสลายและ ส่งแร่ธาตุไปให้พืช ส่งผลให้ต้นไม้และพืชผักที่ได้รับเชื้อเห็ดเข้าไปเจริญเติบโตได้รวดเร็วมากกว่าปกติอย่างน้อย 2-3 เท่า

และออกผลผลิตที่มีคุณภาพ และผลิตดอกออกผลเร็วกว่าปกติ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม นอกจากนั้น พื้นที่ต้นแบบบ้านบุญแจ่มเป็นศูนย์เรียนรู้ เมื่อมีคนเข้ามาก็สามารถขายกล้าไม้ ขายเชื้อเห็ด ทำให้ชุมชนมีรายได้ จากกล้าไม้ปกติต้นละ 10-20 บาท พอใส่เชื้อเห็ดเข้าไปก็เพิ่มมูลค่ากล้าไม้ขายได้ต้น 30-40 บาท เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรอยากปลูกป่าเพิ่มขึ้นเพราะได้ประโยชน์ทั้งสองทาง
เห็ดป่าโดยทั่วไปจะหามาบริโภคได้เฉพาะฤดูฝน แต่ถ้าเป็นเห็ดที่เพาะที่นี่จะออกทั้งปีเพราะเรามีระบบการจัดการการให้น้ำเป็นระบบอินทรีย์

สิ่งสำคัญที่สุดในการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาคือห้ามใช้สารเคมีเด็ดขาด เพราะว่ามันจะไปฆ่าเชื้อราก็จะไปฆ่าเห็ดสิ่งที่เราอยากจะให้เกษตรกรเห็นค่าคือพยายามลดการใช้เคมีและมีอาหารบริโภคในครอบครัวของตัวเอง เห็ดตับเต่าที่ได้

ดอกหนึ่งประมาณ 800 กรัม ราคากิโลกรัมละ 280 บาท ทำอาหารผัดกระเพรารสชาติก็จะกรุบกรอบ อร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งนอกจากนำมาบริโภคเป็นอาหารแล้ว ยังมีคุณสมบัติเป็นยาต้านอนุมูลอิสระป้องกันโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จากข้อมูลคนที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเมื่อทานเห็ดตัวนี้แล้วเขามีอาการดีขึ้น มีประโยชน์เชิงการแพทย์ด้วย ทางเราก็อยากจะให้ชุมชนเกษตรกรหันมาปลูกต้นไม้เพื่อลดสภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกันก็มีอาหารในครัวเรือนลดการใช้เคมีผลต่อเนื่องคือคนในชุมชน ในครอบครัวมีสุขภาพที่ดี”

ชาวบ้านชุมชนบ้านบุญแจ่มเปิดเผยว่า

“พืชผักถ้าที่ใส่เชื้อเห็ดเข้าไปต้นจะใหญ่ เช่นผักกูดยอดจะใหญ่มาก แปลงหนึ่งไม่ได้ใส่เชื้อเห็ดกับอีกแปลงหนึ่งใส่เชื้อเห็ด เปรียบเทียบกันสองแปลงเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน



ในแปลงนี้จะมีเห็ดตับเต่าที่ออกมาแล้ว ส่วนเห็ดชะโงกต้องรออายุต้นไม้ที่โตมากกว่านี้ ส่วนการดูแลก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ปกติทั่วไป แต่ต้นไม้ที่ใส่เชื้อเห็ดเข้าไป จะทนแล้งได้ดี โตเร็ว ทนต่อโรค ตอนนี้กลุ่มสมาชิกในหมู่บ้านกว่า 32 คน เอาไปปลูก หลังจากการปลูกก็มานั่งคุย บางคนก็ได้รับได้รับผลผลิตแล้ว บางคนที่ยังไม่ได้รับผลผลิต ก็มานั่งคุยกันว่าเป็นเพราะน้ำหรือแสงแดด มาได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน”

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้