อว. เปิดเวทีแสดงดนตรี  “เสียงอดีตสร้างจินตนาการภาพโบราณ อลังการวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า บรรเลงเพลงเก่าอยุธยาอายุ 335ปี หน้าวัดพระราม

Last updated: 16 ก.พ. 2564  |  450 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อว. เปิดเวทีแสดงดนตรี  “เสียงอดีตสร้างจินตนาการภาพโบราณ อลังการวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า บรรเลงเพลงเก่าอยุธยาอายุ 335ปี หน้าวัดพระราม

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน “เสียงอดีตสร้างจินตนาการภาพโบราณ เล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม”จ.พระนครศรีอยุธยา (วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564) จัดขึ้นโดยอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร และสภาอุตสาหกรรมท่องเสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสนับสนุนกิจกรรมบรรเลงเพลงพื้นบ้านสมัยอยุธยาซึ่งบันทึกเสียงและบันทึกเป็นโน้ตสากลโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตราอำนวยการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข  ควบคุมวงโดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์  โดยมีศิลปินแห่งชาติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ อ่านบทกวี อยุธยา  ธนิสร์  ศรีกลิ่นดี  เป่าขลุ่ยเคล้าบทกวี บรรเลงเพลงโบราณที่แต่งโดยศิลปินฝรั่งเศส เพื่อต้อนรับคณะราชทูตสยามที่นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เมื่อ 335 ปีที่แล้ว



เป็นการจัดแสดงดนตรี “เพลงสมัยอยุธยา” โดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า มีฉากหลังเป็นวัดพระราม เพื่อให้ผู้ที่ฟังเสียงเพลง สัมผัสมิติของความเคลื่อนไหวและมีชีวิต พลังของเพลงจะสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้น เพื่อมองย้อนกลับไปในบรรยากาศโบราณของ “วัดพระราม” และจินตนการภาพของกรุงศรีอยุธยาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งตามเสียงที่ได้ยิน ซึ่งเครื่องดนตรีสากลที่ใช้ในการบรรเลงครั้งนี้ ประกอบด้วย ไวโอลินหนึ่ง ไวโอลินสอง วิโอลา เชลโล ดับเบิลเบส เครื่องเป่า ฟลุต โอโบ คลาริเน็ต บาสซูน ฮอร์น ทรัมเป็ต ทรอมโบน ยูโฟเนียม ทูบา และเครื่องประกอบจังหวะ

โดยการแสดงแบ่งเป็น 6 ชุดการแสดง 1.การแสดงเพลงชุดโบราณ เพลงต้นวรเชษฐ์, เพลงสุดใจ, เพลงสายสมร ขับร้อง เพลงสุดใจ และ เพลงสายสมร โดย นาวสาวกมลพร หุ่นเจริญ 2. การแสดงเพลงชุดฝรั่ง เพลง ยินดีต้อนรับชาวสยาม (Entrée des Siamois), เพลงสำเนียงของชาวสยาม (e air siamois), เพลงฝรั่งยี่เฮ็ม, เพลงฝรั่งรำเท้า 3. การแสดงเพลงเดี่ยวร่วมกับวงออร์เคสตรา เพลงค้างคาวกินกล้วย เดี่ยวขลุ่ย โดย อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เพลงจีนแจ๋ไจ้ยอ เดี่ยวขิม โดย ครูนิธิ ศรีสว่าง 4. การแสดงเพลงชุดโยสลัมและเครือญาติ เพลงโยสลัม, เพลงตามองตา, เพลงความรักเจ้าขา 5. การแสดงเพลงชุดแขกเปอร์เซีย เพลงแขกเชิญเจ้า, เพลงแขกสาย และ 6. สร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมวัดพระรามประกอบบทเพลง โดย ดร.สุชาติ วงษ์ทอง


สำหรับเพลงยินดีต้อนรับชาวสยาม และเพลงสำเนียงของชาวสยาม เป็นเพลงที่ ไมเคิล ริชาร์ด เดอลาลองด์ (Michel Richard Delalande) หัวหน้ากรมมหรสพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ประพันธ์เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) หัวหน้าคณะราชทูตสยามที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2229 เนื่องจากประทับใจในอุปนิสัยราชทูตผู้มีอัธยาศัยไมตรี มีความสุภาพและมีความเฉลียวฉลาด ซึ่งกิจกรรมเล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระรามได้บรรเลงเพลงเก่าที่ผ่านมา 335 ปีอีกครั้ง

ทั้งนี้กิจกรรมเล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระรามดังกล่าวเป็นผลจากการวิจัยใน “โครงการวิจัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน” และ “โครงการขยายผลต่อยอดนวัตธรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ” ที่ วช. ได้สนับสนุน “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข” ซึ่งดำเนินการโดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ในการวิจัยเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งใหม่บนรากฐานสิ่งเก่า เพื่อรักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของสังคมไทยให้สืบทอดและคงอยู่ต่อไป

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสังกัด อว. และประชาชนที่สนใจได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งจัดแสดงให้เข้าชมในจำนวนที่นั่งตามข้อกำหนดการป้องกันโควิด-19 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา และการแสดงครั้งนี้ใช้วิธีถ่ายทำโดยบันทึกภาพและเสียงเพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อโทรทัศน์

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า


ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า “อว.ทำเรื่องวิจัยทุกด้าน รวมถึงส่งเสริมศิลปะทุกด้านโดยเฉพาะด้านดนตรี จึงเป็นที่มาของงานวันนี้ อ.สุกรี เจริญสุข ท่านเป็นคนที่ผมชื่นชมมาตลอด ท่านมีความคิดที่ดี ท่านบอกว่าท่านจะทำวิจัยเอาเพลงพื้นบ้านของไทยมาใส่สำเนียงให้เป็นวงซิมโฟนี่ออเคสตร้า ท่านบอกว่าเพลงไทยโบราณที่เรารู้จักมีน้อยไปนะ จริงๆ มีเยอะมาก มีมาตั้งแต่โบราณ จังหวัดที่มีเพลงพื้นบ้านมากที่สุดคือจังหวัดลำปาง เรียกว่าลาวลำปาง จังหวัดอื่นๆ ก็มีอีกเยอะ  จึงบอกให้ท่านมาทำวิจัยให้อว.เพื่อจะทำเรื่องเพลงพื้นบ้านให้เป็นสากลมากขึ้น เป็นที่รับฟังง่ายขึ้นของคนทั้งโลก ถ้าเราต้องการให้คนทั้งโลกสนใจดนตรีของเรา เราก็ต้องปรับให้เสียงของเราให้ถูกหูคนทั้งโลกได้มากขึ้น  ดนตรีพื้นบ้านถ้าเอามาปรับให้สมัยใหม่ ก็ขายได้ ผู้อำนวยการ วช.ท่านวิภารัตน์ ดีอ่องและท่านปลัดช่วยกันหาวิธีทำให้ผลงานออกมารวดเร็วมาก ใช้เวลาเพียง 2 เดือนก็สามารถเปิดแสดงครั้งแรกได้แล้ว สุดยอดมาก  อ.สุกรีบอกว่าดนตรีสร้างชาติ เป็นทุนทางวัฒนธรรมอย่างยิ่งใหญ่ เรากำลังทำเรื่องเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ ดนตรีพื้นบ้านถ้าหายไปคือการสูญเสียทางปัญญา เป็นการสูญเสียทางทุนวัฒนธรรม เราต้องเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ทำให้ดนตรีไทยเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก เหมือนอย่างมวยไทย ผมอยากเห็นดนตรีไทยเข้าไปอยู่ในทำเนียบดนตรีโลก”

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้