ไม่ต้องไปไกลถึงดาวอังคาร ก็จำลองประสบการณ์การใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงได้ ผ่านนิทรรศการ “หนึ่งวัน...(บนดาว) อังคาร | A Day on Mars” ที่งานมหกรรมวิทย์ฯ  

Last updated: 18 พ.ย. 2563  |  678 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไม่ต้องไปไกลถึงดาวอังคาร ก็จำลองประสบการณ์การใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดงได้  ผ่านนิทรรศการ “หนึ่งวัน...(บนดาว) อังคาร | A Day on Mars” ที่งานมหกรรมวิทย์ฯ   

 เคยสงสัยไหมว่า “ถ้าโลกร้อนถึงขั้นวิกฤติจนมนุษย์อยู่ไม่ได้ ทำไมมนุษย์ต้องอพยพไปอยู่ดาวอังคาร?”

หากใครสงสัย มาหาคำตอบได้ที่งานมหกรรมวิทย์ฯ เพราะเรารวบรวมคำตอบไว้ที่นี่ได้อย่างครบถ้วน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสัมผัสประสบการณ์การจำลองการใช้ชีวิตบนดาวอังคารเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการตั้งถิ่นฐานของมนุษยชาติ 

ภายในงานจะพบกับข้อมูลที่อัดแน่น แต่เป็นความรู้ฉบับย่อยง่ายผ่านบอร์ดที่แทรกด้วยระบบจอภาพอินเตอร์แอคทีฟ สื่อสัมผัสที่สร้างความรู้ให้ดูน่าสนใจ มีเรื่องราวและข้อจำกัดต่างๆ บนอวกาศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาหาร การแต่งกายหรือแม้กระทั่งยารักษาโรค 



ถึงตอนนี้ อาจมีหลายคนยังตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเป็นดาวอังคาร นั่นเพราะนักวิทยาศาสตร์มีการเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะแล้ว พบว่า ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของโลกมนุษย์ที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ระยะห่างจากดวงอาทิตย์พอเหมาะที่จะทำให้มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับการดำรงชีวิต, มีน้ำเป็นองค์ประกอบ, มีฤดูกาลคล้ายโลก, มีแหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์ แม้จะน้อยกว่าโลกแต่ก็เพียงพอต่อการสังเคราะห์แสงของพืชที่จะนำมาปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันได้,  มีช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน ใกล้เคียงกับโลก โดยดาวอังคารหมุนรอบตัวเอง 24 ชั่วโมง 37 นาที, มนุษย์สามารถปรับตัวกับวิถีชีวิตในรอบวันได้ นอกจากนี้ มีระยะทางไม่ไกลจากโลกมากนัก สามารถเดินทางไปได้ด้วยเทคโนโลยีอวกาศที่เร็วที่สุดในปัจจุบันใช้เวลาเพียง 6-8 เดือน

แม้ดาวอังคารจะมีสภาพแวดล้อมและปัจจัยหลายอย่างที่มีความใกล้เคียงกับโลก แต่ถ้าพูดในแง่ของแรงโน้มถ่วง พบว่า ดาวอังคารมีแรงโน้มถ่วงประมาณ 38% ของโลก เมื่อเราไปอยู่บนดาวดวงนี้ จะมีน้ำหนักเบากว่าเดิม ถ้าอยากรู้ว่า เราจะมีน้ำหนักเท่าไหร่บนดาวอังคารให้เอา 0.38 x น้ำหนักบนโลก ตัวอย่างเช่น หากเรามีน้ำหนักบนโลก 49.6 กก เมื่ออยู่บนดาวอังคารจะเหลือเพียง 18.8 กก. เท่านั้น

 

แน่นอนว่า การไปสำรวจดาวอังคารแต่ละครั้ง จะไม่ให้พูดถึงพระเอกของงานก็คงจะกระไรอยู่ เพราะบทบาทสำคัญในการให้มนุษย์โลกได้รับรู้ว่า บนดาวอังคาร มีหน้าตาและลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง ก็ต้องยกให้เจ้าหุ่นยานสำรวจดาวอังคารที่ส่งภาพหลักฐานกลับมาให้มนุษย์โลกได้ดู โดยการสำรวจดาวอังคาร จำเป็นต้องใช้ยานทั้งหมด 4 ประเภทคือ ยานบินเฉียด คือบินผ่านวงโคจรในระยะใกล้ (Flyby), ยานโคจรรอบวงโคจรของดาว (Orbiter), ยานลงจอดพื้นดาว (Lander) และยานออกสำรวจพื้นที่ (Rover)

ซึ่งการใช้ยานสำรวจก็ขึ้นอยู่กับภารกิจปฏิบัติการสำรวจดาวอังคารที่แตกต่างกันไป อาทิ การปฏิบัติหาจุลินทรีย์, การสำรวจความเป็นไปได้ที่จะอยู่อาศัยบนดาวอังคาร, การทำแผนที่บนดาวอังคารอย่างละเอียด, การสำรวจแร่ธาตุ

อย่างไรก็ตาม ภารกิจการสำรวจดาวอังคารมีมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ยาน Perseverance ถูกส่งออกจากชั้นบรรยากาศของโลกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2020 โดยจุดเด่นของหุ่นยนต์สำรวจนี้ คือ กล้อง Supercam ที่มี Laser และ Spectrometer ไว้สำหรับแสกนหาสารอินทรีย์หรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิต โดยที่ตัวยานทำงานได้ในระยะ 7 เมตรจากวัตถุที่ต้องการตรวจ อีกทั้งยังติดตั้งเฮลิคอปเตอร์ ควบคุมตนเองขนาดจิ๋วที่มีชื่อว่า Ingenuity เพื่อใช้ถ่ายภาพมุมสูงของพื้นผิวดาวอังคาร เพื่อส่งมายังโลก คาดว่ายานจะลงจอดบนดาวอังคารได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 เราคงต้องลุ้นกันต่อไปว่า จะพบอะไรที่มีความคืบหน้า หรือความเป็นไปได้ในการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอีกหรือไม่


ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่ยังมีความสนุกและน่าตื่นเต้นกับลูกเล่นอีกมากมายในนิทรรศการ อาทิ โรงภาพยนตร์ขนาดย่อมที่ฉายเรื่องราวและความรู้ของภารกิจการค้นหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ตื่นตาตื่นใจไปกับการจำลองชีวิตบนดาวอังคาร! ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้ความรู้สึกตื่นเต้นไม่ต่าง เพราะลูกเล่นที่โดดเด่นจนต้องต่อคิวยาว นั่นคือ เกมสร้างชุด มนุษย์ดาวอังคาร ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เราสามารถสนุกไปกับการเลือกเพศ สีและชุดมนุษย์อวกาศ ด้วยท่าทางที่ยืนนิ่ง หรือวิ่งบนดาวอังคารก็ได้ทั้งนั้น นอกจากนี้ ยังเลือกมุมกล้องถ่ายหน้าตัวเองขึ้นจอ พร้อมดาวน์โหลดภาพตัวเองเก็บไว้บันทึกความทรงจำได้ผ่าน QR CODE ทั้งหมดนี้ สามารถใช้เวลาของความสนุกได้ไม่ถึงหนึ่งนาที

ความน่าสนใจไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีหุ่นจำลองยานสำรวจที่ตั้งตระหง่าน อยู่บริเวณจุดทางเข้านิทรรศการ โดยเลือกหุ่น Curiosity Rover เป็นหุ่นยนต์สำรวจแบบเคลื่อนที่ ที่มีประวัติเคยลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารในวันที่ 5 สิงหาคม ของปี 2012 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่ มนุษย์จะเดินทางไปอยู่ดาวอังคารได้จริงหรือเปล่า? มันเป็นเรื่องของอนาคตที่เราไม่ควรกังวลมากไปกว่าการให้ความสำคัญกับปัจจุบัน ขอเพียงทุกคนร่วมมือ ร่วมใจกัน หันมาตระหนักจริงจัง ช่วยกันดูแลโลก ดูแลรักษาธรรมชาติที่มีอยู่ทุกวันนี้ให้ดีที่สุด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้…

สำหรับโรงเรียนที่ต้องการเข้าชมงานเป็นหมู่คณะ ติดต่อจองเข้าชมงานได้ที่เว็บไซต์งาน หรือ ติดต่อ อพวช. โทร 02 577 9960 ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงาน ได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ  Facebook งาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH  หรือสอบถามข้อมูลที่ อพวช. โทร. 0 2577 9960

 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้