เปิดบทบาท ETDA ในวันที่ AI ขับเคลื่อนไทย

Last updated: 11 มิ.ย. 2567  |  61 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปิดบทบาท ETDA ในวันที่ AI ขับเคลื่อนไทย

เปิดบทบาท ETDA ในวันที่ AI ขับเคลื่อนไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาปฏิวัติการทำงาน ทลายข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เคยมีในอดีต พร้อมกับโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น เทคโนโลยี AI ก็เปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้าน ทั้งด้านที่ให้คุณ และให้โทษ หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ดังนั้น การกำกับดูแลการใช้ AI ให้อยู่ขอบเขตที่เหมาะสม สอดคล้องตามหลัก จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ควรจะเป็น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ถือเป็นหนึ่งภารกิจสำคัญของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล


ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA กล่าวว่า การรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ สำหรับประเทศไทย ไม่เป็นรองใคร ในโลก รวมถึง AI ซึ่งโจทย์สำคัญคือจะใช้ AI ให้เกิดประโยชน์กับประเทศ หรือเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีมาอย่างยาวนานแล้วอย่างไร เช่น ปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำเพราะเกษตรกร ปลูกพืชเดียวกัน ทำให้สินค้าล้นตลาดหรือการเตรียม ความพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัย
“AI มีความพิเศษกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่สั่งแล้วทำตาม แต่ยังสามารถ ให้คำแนะนำกลับมาได้ด้วย ถือเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากผู้ใช้งานรู้ไม่เท่าทัน เพราะการแนะนำของ AI อาจมี Bias ดังนั้น ETDA จึงได้ออก AI Governance Guideline for Executives หรือ แนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีธรรมาภิบาล สำหรับผู้บริหารองค์กร ที่เป็น Framework ของการประยุกต์ใช้ AI ได้อย่างมีธรรมาภิบาล ในระดับองค์กร เพื่อช่วยลดความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กับการประยุกต์ใช้ AI ในภาคส่วนต่างๆ”



• AI Governance Guideline
AI Governance Guideline for Executives หรือ แนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารองค์กรถือเป็นฉบับแรกขของไทย มีรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้บริหาร หรือเจ้าของธุรกิจควรรู้เมื่อจะนำ AI มาใช้ในองค์กร เพื่อให้สามารถใช้งาน AI ได้อย่างปลอดภัย โดยแบ่งการกำกับดูแลเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. การกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล (Al Governance Structure) เป็นการนำเสนอ แนวทางการ กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI ขององค์กร โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแล ทำหน้าที่ ในการกำหนดกลยุทธ์ และนโยบาย ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ AI ภายในองค์กรรวมถึง มีหน้าที่ในการเฝ้าติดตาม และประเมินผลการประยุกต์ใช้ AI เพื่อให้มั่นใจได้ว่าองค์กรมีการกำกับดูแล การประยุกต์ใช้ AI อย่างเหมาะสม
2. การกำหนดกลยุทธ์ในการประยุกต์ใช้ AI (Al Strategy) เป็นการมองหาโอกาส หรือประโยชน์ที่องค์กร จะได้รับจากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบสนองเป้าหมายองค์กร พร้อมทั้งวิเคราะห์ความสำเร็จ จากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ ความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ความพร้อมขององค์กรและทรัพยากร ที่จำเป็น เพื่อให้ มั่นใจว่าการประยุกต์ใช้ AI จะบรรลุตามเป้าหมาย และประสบความสำเร็จตามที่กำหนด รวมถึงวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับความสอดคล้อง กับหลักการจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และความสอดคล้องต้ามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
3. การกำกับดูแลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับ AI (AI Operation) เป็นการอธิบายถึงแนวปฏิบัติตลอด วงจรชีวิตของ AI เพื่อให้มั่นใจว่า AI ได้รับการออกแบบ พัฒนา และนำไปใช้งานได้อย่างสอดคล้อง ตามเป้าหมายขององค์กร รวมถึงสอดคล้อง ตามหลักการ จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ กฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยัง อธิบายถึง แนวปฏิบัติในการจัดเตรียมข้อมูล (Data Preparation) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ และเหมาะ สำหรับนำไปใช้สอนและทำงานร่วมกับ AI ตลอดจนแนวปฏิบัติการรับมือกับความเสี่ยง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การเฝ้าติดตาม และการประเมินผลการประยุกต์ใช้งาน AI เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ
“ETDA ทำงานร่วมกับคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญด้าน AI อย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนา AI Governance Guideline ฉบับนี้ อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีการอัพเดตตลอด เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราก็มีการหารือร่วมกับเหล่าบิ๊กเทคที่ให้บริการโมเดล AI เช่น Microsoft, Google และ Meta เพื่ออัพเดตความก้าวหน้าของ AI อย่างต่อเนื่อง”


• โจทย์ท้าทาย…บาลานซ์ความเสี่ยง VS โอกาส
ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า ความเข้มข้นของการวาง Framework เกี่ยวกับการใช้ AI มีอยู่ 4 ระดับ ได้แก่ 1.การวาง บทบาทเรื่อง AI ของไทยในเวทีโลก 2.การทำงานร่วมกับผู้บังคับใช้กฎหมายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การเงิน การแพทย์ และการศึกษา เพื่อบาลานซ์ระหว่างการกำหนดขอบเขตการใช้งาน และการพัฒนา ในแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความต้องการและน้ำหนักการใช้งาน AI ต่างกันออกไป 3.การออก Guidelineสำหรับองค์กร และ 4.การออก Guidelineสำหรับประชาชน เพื่อให้เกิดการใช้งาน AI อย่างเหมาะสม และไม่พึ่งพา AI มากเกินไป
“ตอนนี้ในระดับโลกมีการออกกฎหมายหรือ Guideline เกี่ยวกับ AI หลายฉบับ เช่น AI Act ของสหภาพยุโรป หรือในอาเซียนก็มี ASEAN Guide on AI Governance and Ethics ซึ่งความท้าทายของไทยต่อจากนี้ คือ จะมีธรรมาภิบาลการใช้ AI ที่ดี และตามทันความเคลื่อนไหว ในระดับสากลหรือไม่”
ดร.ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI โดยตรงมี 2 กลุ่มคือ ผู้พัฒนาระบบ และผู้ที่นำ AI มาใช้เพื่อให้บริการ ซึ่งความเข้มข้นในการกำกับดูแลหรือบังคับใช้กฎหมาย จะต้องพิจารณาจากความเสี่ยง และประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้งาน AI ในแต่ละอุตสาหกรรม ถ้าเสี่ยงมากก็ต้องมีดีกรีการบังคับใช้ ที่เข้ม ข้นตามไปด้วย
“กรณีที่ได้ประโยชน์มาก ๆ แต่ก็มีความเสี่ยงตามมามาก เช่น ตู้ยา AI หรือการวินิจฉัยโรคด้วย AI ก็ต้องมีการขออนุญาตและได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด มีการทดสอบหลาย ขั้นตอน เพราะส่งผลต่อชีวิตคน แต่ถ้าเป็น Chatbot เกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องยาและสุขภาพ อาจตรวจ สอบความถูกต้องของข้อมูลแล้วเปิดใช้งานได้เลย”


• ก้าวต่อไปของ ETDA
แผนงานในปีนี้ของ ETDA นอกจาก AI Governance Guideline ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ETDA โดยศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Center by ETDA หรือ AIGC) เตรียมออก Guideline อีกหลายฉบับ ครอบคลุมทั้ง การใช้ Generative AI, การจัดทำ AI Roadmap, AI Procurement รวมถึง AI Job Redesign เป็นต้น อีกทั้งยังเตรียมจัดทำหลักเกณฑ์การประเมิน การทำงาน ของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model หรือ LLM) สำหรับต่อยอดไปสู่การกำหนด เป็นหลักเกณฑ์พื้นฐาน (Baseline) ในการทดสอบ Sandbox ต่อไป ด้วย
“ปัจจุบันมีการพัฒนา LLM อยู่ในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก แต่ไม่รู้ว่าโมเดลไหนสามารถให้คำตอบ ได้ถูกต้องมากที่สุด หรือเหมาะกับการใช้งานในไทย โดยเฉพาะการให้คำตอบในประเด็นที่อ่อนไหว เช่น ศาสนา และการเมือง สิ่งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างธรรมาภิบาลการใช้ AI ที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจ ระดับโลก ให้ความสำคัญ เห็นได้จากการที่ผู้ให้บริการ AI เซ็นสัญญาความร่วมมือกับ สำนักข่าวหรือเจ้าของข้อมูล เพื่อประกาศว่าจะนำข้อมูลมาใช้ในการเทรน AI อย่างถูกต้อง”


• AI โอกาสในวิกฤตของ SMEs-Startup
ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA กล่าวด้วยว่า แม้การใช้ AI จะมีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังอีกหลายอย่าง แต่ถ้าบาลานซ์การใช้งานได้ จะนำมาซึ่งโอกาสของ SMEs และ Startup ยุคใหม่อีกมาก เพราะในอดีตการลงทุนด้านเทคโนโลยีถือเป็นข้อจำกัดของกลุ่มผู้ประกอบรายเล็ก แต่เมื่อ AI เข้ามา เครื่องมือในการทำธุรกิจก็มีอยู่เต็มไปหมด ถ้าผู้ประกอบการรู้จักเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับธุรกิจของ ตนเองจะช่วยลดต้นทุนและเวลาในการทำงานได้ เช่น การร่างสัญญา ที่เมื่อก่อนต้องจ้างทนาย ตั้งแต่ขั้นตอนแรก แต่พอใช้ AI ก็อาจจะจ้างทนายแค่ขั้นตอนการตรวจสอบเท่านั้น
“AI สามารถเข้ามาช่วยในการทำงานได้เกือบทุกตำแหน่ง เช่น การวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า การให้บริการ Customer Services และการช่วยคัดกรองใบสมัครงาน ช่วยลดเวลา และขั้นตอนในการรับสมัครใหม่ สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำว่า ความต้องการในการใช้งาน AI ยังคงมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ AI จะเป็นโอกาสที่ทำให้ เกิดบริการในรูปแบบใหม่ ๆ อีกมากมาย” ดร.ศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้