Last updated: 28 มิ.ย. 2566 | 283 จำนวนผู้เข้าชม |
อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ ผลักดันงาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2023” (CPHI South East Asia 2023) เป็นเครื่องมือขยายตลาดยาไทย สู่เป้าหมายการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในภูมิภาคฯ เสริมความแกร่งผู้ผลิตยาไทยให้มีศักยภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล พร้อมก้าวสู่ผู้ผลิตยารายสำคัญของโลก เชื่อความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในงานนี้ ช่วยผลักดันแนวทางความมั่นคงทางการยา ให้เป็นหนึ่งในเครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ร่วมชมศักยภาพธุรกิจยาจากทั่วโลกกว่า 390 บริษัท ร่วมโชว์นวัตกรรม แลกเปลี่ยนความรู้ และเจรจาทางธุรกิจ โดยตั้งเป้าผู้เข้าเยี่ยมชมงานกว่า 8,000 คนจากทั่วโลก งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคมนี้ที่ ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ในฐานะผู้จัดงาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2023 (CPHI South East Asia 2023)” เปิดเผยว่า งาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2023 เป็นการจัดงานแสดงสินค้าเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านเภสัชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ด้านบรรจุภัณฑ์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “CPHI At the heart of Pharma ใจกลางยา ใจกลางเมือง กลางใจคุณ” เพื่อเป็นงานที่มุ่งสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของภาคอุตสาหกรรมยาในไทยและภูมิภาคฯ ได้ร่วมโชว์ศักยภาพด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยให้ก้าวขึ้นเทียบเท่าระดับสากล
การจัดงานในครั้งนี้จะแสดงให้ทุกคนเห็นว่าศักยภาพของผู้ผลิตยาไทยนั้น มีความปลอดภัยได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล และบริษัทไทยมีความสามารถในการผลิตยารองรับความต้องการในระดับโลกได้ โดยเชื่อมั่นว่า งาน ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2023 เป็นคำตอบให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมยา ทั้งในด้านขยายโอกาสทางธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตที่แข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และสร้างเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต
“งาน CPHI South East Asia 2023 เป็นงานที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มาร่วมกันทำให้งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศไทย เกิดการขยายตัวทางการตลาด สามารถก้าวไปสู่ความมั่นคงทางการยา ถือเป็นการวางรากฐานสำคัญในการเป็นเมดิคัลฮับ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจประเทศไทยให้เติบโตก้าวไกลในอนาคต” นางสาวรุ้งเพชร กล่าว
ภญ.ลลนา เสตสุบรรณ นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน เปิดเผยว่า สมาคมฯ มีหน้าที่ส่งเสริม และสนับสนุนการผลิตยาแผนปัจจุบันที่ผลิตในประเทศไทยให้มีคุณภาพตามมาตรฐานทัดเทียมกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังมีส่วนช่วยยกมาตรฐานของอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันในประเทศไทยให้เพียงพอแก่ความต้องการของประเทศ นับเป็นภารกิจสำคัญ ซึ่งรวมถึงการเป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการผลิตยาแผนปัจจุบันในประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมให้สมาชิกออกงานแสดงสินค้าต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศรวมถึงการออกงาน “ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2023” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสมาชิกผู้ประกอบการ มีโอกาสเรียนรู้ได้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างโอกาสในการขยายตลาด ได้เม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ จากนักลงทุนที่ให้ความสนใจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ภก.สุรชัย เรืองสุขศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถือเป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็ง และผลิตภาพอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสามารถเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งการจัดงาน“ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2023” ถือเป็นตัวกลาง การประสานให้เกิดความร่วมมือที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมพัฒนาธุรกิจ การค้า การลงทุน ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาภาคธุรกิจเอกชนไทยให้แข็งแกร่ง มีความพร้อมร่วมกันที่จะวางรากฐานให้ประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการยาให้กับประเทศไทยต่อไป
ภญ.ปาริชาติ แคล้วปลอดทุกข์ ผู้เชี่ยวชาญ 10 ฝ่ายขาย องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์ระบบสาธารณสุขประเทศไทยนั้นได้มีศักยภาพและมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากสากล อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก แต่ต้องยอมรับว่าเรายังเป็นประเทศผู้ผลิตยาเองได้น้อย ทั้งๆที่ผู้ผลิตภายในประเทศมีมาตรฐานการผลิตที่สูงและเป็นที่ยอมรับ แต่ด้วยวัตถุดิบในการผลิตยาส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น หากต้องวางแผนความมั่นคงทางการยา เราเองต้องลดการพึ่งพิงการนำเข้า สร้างศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการด้านยาแบบครบวงจร ตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของประเทศ มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ด้วยการวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการผลิต โดยเฉพาะความสามารถในการวิจัย พัฒนาและผลิต API และยานวัตกรรมและมูลค่าสูง โดยเฉพาะในกลุ่ม Biopharmaceutical ซึ่งขณะนี้ องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง เช่น เป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาด ร่วมกับภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนายาที่มีความจำเป็น เหล่านี้เป็นต้น
นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ส่งเสริมพัฒนาการใช้สมุนไพรอย่างครบวงจร เพี่อให้เกิดการใช้ประโยชน์การใช้สมุนไพรภายในประเทศมากขึ้น ทางสถาบันจึงส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรผ่านการทำวิจัย โดยการศึกษาสมุนไพรทั้งด้านการสกัด และควบคุมคุณภาพ ศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัย ด้วยวิธีทดสอบที่ได้มาตรฐานสากล
ทั้งนี้ วว. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาจากผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์ ยา เครื่องสำอาง และวัสดุทางการแพทย์ จึงได้ยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำในมนุษย์ (non-clinical study) ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้ได้รับการรับรองตามหลักการ OECD GLP นับเป็นการเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐานการทดสอบที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ จนทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการขึ้นทะเบียนได้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการยอมรับข้อมูลการทดสอบ เมื่อต้องการส่งผลิตภัณฑ์ไปขายต่างประเทศทำให้ไม่ต้องทดสอบซ้ำ ทั้งยังมีการพัฒนายาใหม่จากพืชสมุนไพร มาผลิตเป็นวัตถุดิบสําคัญทางยาและระบบควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อตอบสนองสุขภาพของคนไทย รวมถึงการเพิ่มมูลค่าการส่งออก ฯลฯ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป
สำหรับความยิ่งใหญ่ของงานในปีนี้อยู่ที่การแลกเปลี่ยนความรู้ รวมทั้งการสร้างคอมมูนิตี้ของกลุ่มผู้ผลิตยา และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุน การร่วมจัดกิจกรรม และการเข้าร่วมงานจากหน่วยงานชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมายจากทั่วโลก อาทิเช่น สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมเภสัชอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย FDA จากฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวมทั้งสมาคมการค้าผู้ผลิตยาจากฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลี และจีน
ภายในงานอัดแน่นไปด้วยข้อมูลและความรู้ที่สำคัญในอุตสาหกรรมยา Pharma Market Hub ศูนย์รวมความรู้ด้านตลาดยาเพื่อเศรษฐกิจ โดยผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ มาให้คำแนะนำเชิงลึกให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ ตั้งแต่แนวโน้มความต้องการสินค้า กฎระเบียบ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค พร้อมกันนี้ในงานได้มีการนำเสนอพื้นที่กิจกรรมได้แก่ Innovation Stage , เวทีนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ยารูปแบบใหม่ ที่กำลังจะออกสู่ตลาด รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและ Pharma Quest กิจกรรมใหม่ เพื่อส่งเสริมนิสิต-นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วม และเพื่อดึงดูดบุคลากรคุณภาพรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม และล่าสุดได้เพิ่มโปรไฟล์ใหม่ในส่วนพื้นที่จัดแสดง Animal Health เพื่อให้โปรไฟล์งานตอบโจทย์แบบครบวงจร
นอกจากนี้ ยังมีส่วนของสัมมนาที่ห้ามพลาด ได้แก่ A Growth Opportunity for the Herbal Medicines Industry in Thailand, Vietnam, and India, ASEAN animal health outlook, International Pharmaceutical Packaging ด้านการผลิตเภสัชภัณฑ์ครบวงจร การเสวนาเรื่องกฎระเบียบในอาเซียน การจัดแสดงตัวอย่าง บรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ยาที่มีนวัตกรรมทันสมัย รวมถึงการพัฒนายาชีววัตถุและวัคซีนในประเทศไทย: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน ซีพีเอชไอ เซาท์อีส เอเชีย 2023” (CPHI South East Asia 2023) “งานแสดงสินค้าเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านเภสัชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนับเป็นก้าวที่สำคัญของอุตสาหกรรมยาไทยในการพัฒนา พร้อมการยกระดับศักยภาพเพื่อก้าวสู่ผู้ผลิตยารายสำคัญของโลกในอนาคต ซึ่งงานนี้มีธุรกิจร่วมงานแสดงสินค้ากว่า 390 บริษัท โดยมีพื้นที่จัดงานขนาดใหญ่รองรับการขยายของอุตสาหกรรมยากว่า 15,000 ตร.ม. และตั้งเป้าผู้เข้าร่วมงานกว่า 8,000 คน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2566 ณ ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงาน ลงทะเบียนได้ที่ www.cphi.com/sea