Last updated: 10 ม.ค. 2566 | 248 จำนวนผู้เข้าชม |
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง (มทร.ล้านนา) จังหวัดลำปาง จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 : Regional Research Expo 2023” ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัย นวัตกรรม ภูมิปัญญาล้านนาและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG” ระหว่างวันที่ 6 - 8 มกราคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานฯ และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พลัง อว. กับการพัฒนาภาค พัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” โดย นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. คณะนักวิจัย นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ให้การต้อนรับ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า กระทรวง อว. โดย วช. ได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566” โดยนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ระดับพื้นที่ในวงกว้างและเป็นรูปธรรม สร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้กับบุคลากรจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ได้นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาและสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอด ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในภูมิภาค ในปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอันดับที่ 24 ของโลก นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยที่พร้อมจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี พ.ศ.2580 โดยประเทศไทยของเรามีงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรที่ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งที่ วช. จัดงานนี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่น และเมื่อท้องถิ่นเข้มแข็งก็จะต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ในนามของจังหวัดลำปาง กระผมมีความรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่จังหวัดลำปางได้มีโอกาสจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566” และขอต้อนรับทุกท่านที่เข้าร่วมงาน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง แห่งนี้ด้วยความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยจังหวัดลำปางมีศักยภาพโดดเด่นในการจัดการศึกษาด้านงานวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งเป็นที่รู้จักและได้สร้างชื่อเสียงในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมในด้านการขยายผลการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมต่อยอด ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค” ประจำปี 2566 ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิดหลัก “การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัย นวัตกรรม ภูมิปัญญาล้านนาและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG” ระหว่างวันที่ 6 - 8 มกราคม 2566 โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง และหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยภาคเหนือร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งพื้นที่จังหวัดลำปาง เป็นพื้นที่จัดการศึกษาที่มีความพร้อมด้านวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่น เป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียงในระดับชาติและระดับนานาชาติมากมาย รวมถึงมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ เข้าร่วมดำเนินการด้วย โดยการจัดงานมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นภาคเหนืออย่างยั่งยืน โดยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green Economy) สู่การสร้างความเข้มแข็งและการสร้างรายได้ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวว่า ในนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การจัดงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค โดย วช. ในครั้งนี้ ได้เลือกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นเจ้าภาพ โดยงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566” นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ผู้เข้าชมงานจะสามารถนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมหรือนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของกระทรวง อว. ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้าสู่ภูมิภาค ด้วยการนำของ วช. ที่มองเห็นจังหวัดลำปาง เป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่นำงานวิจัยในส่วนภูมิภาคขยายผลไปสู่จังหวัดที่เหลือในภาคเหนือต่อไป
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการการวิจัยของหน่วยงาน นักวิจัยในพื้นที่ เครือข่ายการวิจัยในภูมิภาคนิทรรศการนำเสนอผลงานนานาชาติและประเทศเพื่อนบ้าน นิทรรศการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคเหนือ จำนวน 56 นิทรรศการ กว่า 144 ผลงาน การจัดกิจกรรม Highlight Stage พื้นที่ให้คำปรึกษาความรู้จากงานวิจัย ตลาดนัดผลงานวิจัยที่ได้รับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การประชุม เสวนา โดยมีหัวข้อเป็น Hot Issue Theme เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับภูมิภาค โดยมีหัวข้อการประชุม เสวนา ตลอดการจัดงาน ไม่น้อยกว่า 10 หัวข้อเรื่อง นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการ Highlight เพื่อแสดงให้เห็นแนวคิดของการจัดงาน “การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนด้วยงานวิจัย นวัตกรรม ภูมิปัญญาล้านนาและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG” อีกด้วย