Last updated: 16 พ.ค. 2565 | 584 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาก 2 ทีมเยาวชนไทยสร้างชื่อในเวทีโลก ผลงานคว้ารางวัลที่ 1 Grand Awards จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชน ระดับโลก REGENERON ISEF 2022 ณ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ คว้า รางวัล Grand Awards อันดับ 1 สาขาเวชศาสตร์ปริวรรตพร้อมรับรางวัลสำคัญที่ยกย่องให้กับโครงงานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป รับเงินรางวัลมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาท(The Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations of $50,000) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม คว้ารางวัล Grand Awards อันดับ 1 สาขาชีววิทยาคอมพิวเตอร์และชีวสารสนเทศศาสตร์
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสำหรับเยาวชน ระดับโลก REGENERON ISEF 2022 (Regeneron International Science and Engineering Fair (ISEF) 2022) ในครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2565 จัดโดย Society for Science & the Public ณ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปีนี้มีการส่งตัวแทนเยาวชนทีมไทยซึ่งเป็นตัวแทนจากเวทีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ ค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 17 ประจำปี 2564 และการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24 : YSC 2022 เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 16 ทีม โดยมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้กว่า 1,410 ผลงาน จากนักเรียน 1,750 คน จาก 63 ประเทศ และรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา”
ผลงานทีมเยาวชนไทยคนเก่งจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ โดยมี นางสาวนภัสสร หลิดชิววงศ์ นายกฤษ ฐิติจำเริญพร นายวัฒนพงษ์ อุทธโยธา และนางรุ่งกานต์ วังบุญ อาจารย์ที่ปรึกษา ได้คว้ารางวัล Grand Awards อันดับ 1 สาขาเวชศาสตร์ปริวรรต ทั้งยังได้รับรางวัลสำคัญอีกหนึ่งรางวัลที่ยกย่องให้กับโครงงานสร้างสรรค์ที่มีผลกระทบสูงในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 ดอลลาร์ หรือราว 1.7 ล้านบาท (The Gordon E. Moore Award for Positive Outcomes for Future Generations of $50,000) กับ โครงงาน “เครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจากการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับจากภาพถ่ายอุจาระและการวิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินความเสี่ยงด้วยเทคโนโลยี AI” โดยใช้เว็บแอปพลิเคชัน BiDEx ใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับในภาพถ่ายอุจจาระจากกล้องจุลทรรศน์ และวิเคราะห์ความเสี่ยงการมีพยาธิใบไม้ตับซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ทำให้สามารถรู้ผลการตรวจได้เร็วขึ้น 83.33% ช่วยให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิเข้ารับการรักษาในระบบได้รวดเร็วและทันเวลา นำไปสู่การป้องกันและลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีต่อไป
สำหรับอีกหนึ่งผลงานที่คว้ารางวัล Grand Awards อันดับ 1 สาขาชีววิทยาคอมพิวเตอร์และชีวสารสนเทศศาสตร์ เป็นผลงานจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม โดยมี นายภาวิต แก้วนุรัชดาสร นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ นายวุฒิพงศ์ จงเจริญสันติ ซึ่งมี ดร.สาโรจน์ บุญเส็ง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และนายบัณฑิต บุญยฤทธิ์ สถาบันวิทยสิริเมที เป็นที่ปรึกษา กับ โครงงาน “การทำนายความไวต่อยาด้วยเทคนิคผสมผสาน Graph Attention Networks เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แบบแม่นยำ โดยใช้โครงสร้างโมเลกุลยาร่วมกับข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์” เป็นโมเดลการเรียนรู้เชิงลึก CANDraGAT ซึ่งเป็นโมเดลสำหรับทำนายค่าการตอบสนองต่อยารักษาโรคมะเร็ง โดยอาศัยข้อมูลโครงสร้างยาและข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยได้แม่นยำมากขึ้น
ด้าน ศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวแสดงความยินดี “ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยทั้ง 16 ทีม ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในการแข่งขันโครงงานวิทย์ฯ ระดับโลกในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ในการแข่งขันในเวทีระดับโลก และขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยทุกทีมที่ได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ หวังว่าเยาวชนทุกคนจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้จากการประกวดในครั้งนี้ ซึ่งหวังว่าโครงงานที่เยาวชนได้พัฒนาขึ้นจะถูกต่อยอดและถูกนำมาใช้งานจริงเพื่อพัฒนาประเทศของเราต่อไปในอนาคต”
นอกจากนี้ ยังมีทีมเยาวชนไทยที่สามารถคว้ารางวัล Grand Awards และSpecial Awards มาครอบครองอีกหลากหลายสาขา ได้แก่
1.โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จ.ปทุมธานี ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 3 สาขาสัตวศาสตร์ กับโครงงาน “การเพิ่มศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยแสงสีเพื่อลดอัตราการตายจากพฤติกรรมการสลัดขาทิ้ง”
2.โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 4 สาขาชีวการแพทย์และสุขภาพ และรางวัล Special Awards USAID Science for Development First Award – Global Health จาก U.S. Agency for International Developmen กับ โครงงาน “การพัฒนาต้นแบบชุดทดสอบเชิงสีชนิดใหม่สำหรับไวรัสทั้งชนิด DNA และ RNA เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างครอบคลุม”
3.โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 4 สาขาวิศวชีวการแพทย์ กับ โครงงาน “การพัฒนาเข็มระดับไมโครเพื่อการตรวจวัดแบบ non-invasive ของสารครีเอตินินใน ของเหลวระหว่างเซลล์สู่นวัตกรรมการประเมินโรคไตแบบพกพา”
4.โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จ.ปทุมธานี ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม และรางวัล Special Awards First Life Science Award of $1,500 จาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society กับ โครงงาน “การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมแนวป่าชายเลนด้านในด้วยวัสดุปลูกลอยน้ำเลียนแบบลักษณะโครงสร้างของผลจิกทะเล”
5.โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 4 สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ กับโครงงาน “การแกว่งของลูกตุ้มที่มีกระแสลมรบกวน”
ผศ.ดร.รวินฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับเยาวชนทุกคน ซึ่งรางวัลในการแข่งขันครั้งนี้ นอกจากทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดีแล้ว ยังภาคภูมิใจในการได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลอันทรงเกียรติและมีคุณค่าสำหรับน้อง ๆ เยาวชน โดยหวังว่าทุกผลงานจะนำไปต่อยอดในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต”
-----------------------------------------------------------------------------------
26 ก.ค. 2567