Last updated: 13 มี.ค. 2564 | 381 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดโครงการการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Invention (ภาคเหนือ) เพื่อเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ทักษะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้นตลอดจนการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์ได้อย่างเป็นระบบพร้อมทั้งกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสร้างสรรค์ผลงานในเชิงนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสังคมต่อไป
ดร วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคนและสังคมไทยให้เป็นรากฐานที่เข้มแข็งของประเทศในการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้สู่การร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2560 – 2579 และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ในการมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพกำลังคนให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศวช. และ สอศ. จึงได้ร่วมกันวางแผนสร้างกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ต่อไป โดยในครั้งนี้ วช. ร่วมกับ สอศ. ร่วมกันจัดกิจกรรมบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Invention (ภาคเหนือ) ระหว่างวันที่ 15 – 17 มกราคม 2564 และมีพิธีเปิดในวันที่ 13 มีนาคม 2564 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ : Smart Invention & Invention” เวลา 10.30 น. ณ ห้องดวงตะวันแกรนด์บอลรูม โรงแรมดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่
ดร.วิภารัตน์ฯ ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่สำคัญของ วช.ในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ที่เป็นความท้าทายแห่งศตวรรษที่ 21 การศึกษาวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเป้าหมายประเทศไทย 4.0 โดยบุคลากรสายอาชีวศึกษาจะเข้าสู่ตลาดแรงงานที่จะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันประเทศไทยบนฐานความต้องการด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมด้วยความพร้อมของกำลังคน
การบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพให้เยาวชนสายอาชีวศึกษา จึงมีความสำคัญในการใช้การวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่จะสามารถพัฒนาคนและสร้างกำลังคนคุณภาพได้ การเผยแพร่งานวิจัยและสื่งประดิษฐ์ที่โดดเด่นของ วช.ใน งานวันนักประดิษฐ์ หรืองานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ นอกจากนี้ วช. ยังส่งเสริมสนับสนุนผลงานวิจัยและสื่งประดิษฐ์นำไปประกวดในเวทีนานาชาติอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมการบ่มเพาะประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติรายกลุ่มเรื่อง การนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่มีความโดดเด่น การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัลเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ การจัดกิจกรรมครั้งนี้คาดหมายว่าจะเป็นประโยชน์แก่อาจารย์และบุคลากรผู้รับผิดชอบในการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของสายอาชีวศึกษา เพราะความรู้ต่างๆ ที่จะร่วมกันเรียนรู้จากการบ่มเพาะจากผู้ทรงคุณวุฒิ จะเป็นการพัฒนาทักษะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมให้สามารถร่วมกันพัฒนางานประดิษฐ์คิดค้นที่รองรับความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศในอนาคตได้อย่างเต็มภาคภูมิต่อไป
26 ก.ค. 2567