Last updated: 7 ก.พ. 2564 | 343 จำนวนผู้เข้าชม |
ตามที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาติดตามการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชนแบบเรียลไทม์นั้น ศาสตราจารย์ ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง หัวหน้าโครงการ รายงานว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมีการผ่อนคลายมาตรการแล้วนั้น คนกรุงเทพฯให้ความร่วมมืออย่างดีมาก โดยใส่หน้ากากอนามัยสูงขึ้นกว่าสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มเป็น 98.07% โดยมีผู้ที่ไม่ใส่หน้ากากหรือใส่ไม่ถูกต้องรวมกันน้อยกว่า 2% แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความระมัดระวังและให้ความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมการระบาด "การ์ดยังคงสูงอยู่"
เมื่อวิเคราะห์ละเอียดในแต่ละพื้นที่ พบว่าแต่ละเขตของกรุงเทพมหานครมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้น โดยสองเขตที่มีอัตราการใส่หน้ากากอนามัยต่ำกว่าเขตอื่นเมื่อสัปดาห์ก่อนก็ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเขตบางกะปิการใส่หน้ากากอนามัยถูกต้องเพิ่มขึ้นเป็น 97.56% (เพิ่มขึ้น 3.51%) และเขตดอนเมืองเพิ่มเป็น 94.13% (เพิ่มขึ้น 4.68%)
โดยรวมแล้ว ในช่วงเช้ามีการใส่หน้ากากอนามัยมากกว่าในช่วงบ่ายเพียงเล็กน้อย (98.16% เทียบกับ 97.67%) ซึ่งแสดงว่าประชาชนยังระมัดระวังตัวตลอดเวลา ทั้งนี้ในบริเวณพื้นที่ขนส่งสาธารณะ เช่น สถานีรถไฟฟ้า ป้ายรถประจำทาง ในเขตตัวเมืองชั้นในนั้น พบว่าประชาชนใส่หน้ากากอนามัยมากถึงร้อยละ 98-99% ซึ่งเป็นผลดี
"ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ อัตราการไม่ใส่หน้ากากหรือใส่หน้ากากอนามัยไม่ถูกต้องมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงวันอาทิตย์ ซึ่งแสดงว่าช่วงวันหยุดคนอาจจะระวังตัวลดลง จะต้องเร่งสื่อสารระมัดระวังให้มากในช่วงวันหยุด" ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. สรุป
แหล่งข้อมูล: โครงการระบบปัญญาประดิษฐ์ (ระบบเอไอ AiMASK) ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย พัฒนาโดย ศาสตราจารย์ ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคงและคณะผู้วิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และโครงการซูเปอร์เอไอเอ็นจิเนียร์ ภายใต้การนำของ ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงมาวิเคราะห์ภาพและสามารถแยกการใส่หน้ากากที่ถูกต้อง ไม่ใส่หน้ากากหรือใส่หน้ากากไม่ถูกต้อง สามารถประมวลผลอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็วแบบเรียลไทม์ จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการบริหารสถานการณ์ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หรือในเวลาใด
สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)