Last updated: 23 ส.ค. 2563 | 740 จำนวนผู้เข้าชม |
รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่าประเทศไทยเองได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารฉายรังสีมาตั้งแต่ปี 2515 จนกระทั่งไทยได้เริ่มมีการเดินเครื่องฉายรังสีแกมมา และมีการจำหน่ายอาหารฉายรังสีแก่ผู้บริโภคตั้งแต่ปี 2528 ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ศูนย์ฉายรังสี ได้สร้างมาตรฐานของการฉายรังสีให้เป็นที่ยอมรับจากผู้ประกอบการในประเทศ และองค์กรต่างประเทศให้การยอมรับว่ามีมาตรฐานที่จะสามารถฉายรังสีให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งออกไปยังประเทศปลายทางโดยไม่เกิดปัญหาใด ๆ โดยในปี 2550 โรงงานฉายรังสีของ สทน. แห่งนี้ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรฯ สหรัฐ ให้เป็นโรงงานที่สามารถฉายรังสีผลไม้ไทย 6 ชนิด เพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกาได้ ถือเป็นการช่วยเปิดตลาดผลไม้ไทยให้ส่งออกได้มากขึ้น และเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียก็ให้การรับรองศูนย์รังสีของ สทน. ให้สามารถฉายรังสีส่งออกไปจำหน่ายที่ออสเตรเลียได้ ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้ไทยไปทั้ง 2 ประเทศได้อีกมากกว่า100 ตันต่อปี ประเทศไทยได้เล็งเห็นประโยชน์จากการฉายรังสีของ สทน. จึงได้อนุมัติงบประมาณให้ สทน. เพื่อสร้างอาคารและเครื่องฉายรังสีอิเล็กตรอนเพิ่มเติม เพื่อสามารถให้บริการแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการฉายรังสีที่นับวันจะมีมากขึ้น ซึ่งแนวทางนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายด้าน BCGคือการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร อีกทั้งเทคโนโลยีฉายรังสีด้วยอิเล็กตรอนและ
รังสีเอ็กซ์ ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้การฉายรังสีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สทน. มีเครื่องฉายรังสีที่ให้บริการฉายรังสีแกมมาในเชิงพาณิชย์แก่ผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป โดยใช้โคบอลต์-60 เป็นต้นกำเนิดรังสี ซึ่งมีความจำเป็นต้องสั่งซื้อเพิ่มเติมทุก ๆ 5 ปี เพื่อรักษาประสิทธิภาพการให้บริการฉายรังสี แต่ต้นกำเนิดรังสีโคบอลต์-60 จะมีราคาสูงขึ้นทุกปี อีกทั้งเครื่องฉายรังสีที่ใช้อยู่เป็นเครื่องเก่าที่มีอายุการใช้งานมากว่า 30 ปี จึงทำให้มีต้นทุนการให้บริการฉายรังสีที่สูงขึ้น และที่สำคัญประสิทธิภาพในการให้บริการฉายรังสีผลไม้ สามารถฉายรังสีได้เต็มที่วันละ 60 ตัน ในขณะที่ความต้องการฉายรังสีผลไม้ของไทยเพื่อส่งออกไปยังตลาดในสหรัฐอเมริกามีความต้องการฉายรังสีเฉลี่ยวันละ 90 ตัน ดังนั้น ศูนย์ฉาย รังสีสทน. จำเป็นต้องจัดหาเครื่องฉายรังสีเพิ่มเติม เพื่อรองรับการให้บริการในอนาคต จึงได้ริเริ่ม "โครงการเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีผลิตผลการเกษตรเพื่อการส่งออกด้วยเครื่องเร่งอนุภาค" โดย สทน. ได้รับงบประมาณ605,300,000 บาท สำหรับจัดหาเครื่องฉายรังสีอิเล็กตรอนพร้อมอาคาร ขนาดของโรงงานฉายรังสีอิเล็กตรอนมี พื้นที่12,000 ตารางเมตร
ซึ่งเป็นโรงงานฉายรังสีที่ผลิตรังสีจากพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ทั้งลำอิเล็กตรอน (Electronbeam) และรังสีเอ็กซ์ (x-ray) ซึ่งจะให้หลังงานอิเล็กตรอนไม่เกิน 10 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ ให้รังสี เอ็กซ์พลังงาน 5ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีสินค้าทางการเกษตร ให้ได้เพียงพอต่อความ ต้องการของตลาดต่างประเทศและในประเทศ และได้มาตรฐานเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องการนำเข้าผลิตผลการเกษตรฉายรังสี สำหรับประสิทธิภาพของเครื่องฉายรังสี
สามารถให้บริการฉายรังสีได้ทั้งเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรผลไม้สด ได้ในปริมาณที่มากขึ้นในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้นสำหรับผลที่ได้จากโครงการ นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการฉายรังสีสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการสั่งซื้อต้นกำเนิดรังสีโคบอลต์-60 ในโรงฉายรังสีแกมมาซึ่งมีราคาสูงขึ้นทุกปี ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยที่ดำเนินกิจการค้าขายอาหารและผลิตภัณฑ์ฉายรังสี
รวมทั้งสมุนไพรรักษาโรคพื้นบ้าน ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ฉายรังสี โรงงานฉายรังสีแห่งใหม่นี้จะเป็นโรงงานต้นแบบและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนทั้งในระดับอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรายย่อย
ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองการเดินเครื่อง คาดว่าจะเริ่มให้บริการฉายรังสีในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564 นี้ เมื่อเดินเครื่องฉายรังสีอิเล็กตรอนอย่างเต็มกำลังแล้ว จะสามารถฉายรังสีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในระดับพลังงานต่ำสุดได้สูงสุด 230 ตัน/ชั่วโมง และศูนย์ฉายรังสีของ สทน. จะสามารถฉายรังสีได้ครบทุกประเภทรังสีที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทย
และคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศปีละมากกว่า 5,000 ล้านบาท
26 ก.ค. 2567