Last updated: 4 พ.ย. 2562 | 1970 จำนวนผู้เข้าชม |
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยโครงการ eisa (ไอ-ซ่า) หรือ Education Institute Support Activity ได้มีความร่วมมือกับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อปี 2559 สำหรับการจัดทำบริษัทจำลอง ภายใต้ชื่อ "RBS MART" และในปี 2562 นี้ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมมือกับโครงการ eisa บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) อีกครั้ง ในการจัดทำห้องปฏิบัติการจำลองทางด้านโลจิสติกส์ (RBS Warehouse) เพื่อพัฒนาทักษะการฝึกปฏิบัติงานจริงของนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
การขยายตัวของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เกิดความต้องการแรงงานทางด้านโลจิสติกส์ในอัตราส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงทักษะเฉพาะทางด้านโลจิสติกส์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สถาบันการศึกษาให้ความสนใจ
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะที่เป็นสถาบันทางการศึกษาเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้และทักษะที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม จึงทำความร่วมมือกับ โครงการ eisa บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติกส์ ในการจัดทำห้องปฏิบัติการทางด้านโลจิสติกส์ (RBS Warehouse) ขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการฝึกปฏิบัติ และเพิ่มทักษะในด้านการจัดการคลังสินค้าในการจัดการสินค้าคงคลังของนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานให้มากที่สุด
โดยการดำเนินการจัดทำห้องปฏิบัติการทางด้านโลจิสติกส์ (RBS Warehouse) นั้น โครงการ eisa บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติกส์ จำกัด ได้ส่งคณะผู้ทำงานวางแผนการออกแบบจัดวางโครงสร้างของห้องปฏิบัติการ รวมถึงกระบวนการในการดำเนินกิจกรรมห้องปฏิบัติการดังกล่าว ร่วมกับอาจารย์ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องของคณะบริหารธุรกิจ
เพื่อให้ได้ห้องปฏิบัติการทางด้านโลจิสติกส์ เหมาะสมกับการเรียน การสอน สอดคล้องกับสภาพการทำงานจริงของภาคเอกชน ซึ่งภายในห้องปฏิบัติการดังกล่าว จะมีเครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบโปรแกรมในการควบคุมสินค้าคงคลัง และพื้นที่ในคลังสินค้า ตามรูปแบบของการปฏิบัติงานจริง
ดร.สุกฤษฎิ์ ลิมโพธิ์ทอง รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานกลยุทธ์และการวางแผน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า “การจัดตั้งคลังสินค้าจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษา เนื่องจากนักศึกษาเรียนทฤษฎีค่อนข้างเยอะและจะไม่ได้เห็นของจริง เพราะกิจกรรมที่เกิดขึ้นในคลังสินค้ามีหลายกิจกรรม และอุปกรณ์ที่ใช้ในคลังสินค้ามีหลายประเภท สินค้าที่ถูกส่งเข้ามาจะจัดเก็บอย่างไร จะใช้อะไรควบคุม จะใช้อะไรเคลื่อนย้าย นี่จะเป็นแวร์เฮ้าท์จำลองที่เกิดขึ้นจริงที่นักศึกษาจะได้เห็น เพราะการเห็นแค่ในแท็กบุ๊คหรือในรูปภาพยังไม่เพียงพอ และที่สำคัญเมื่อนักศึกษาได้เห็นและสัมผัสได้จริง เชื่อว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาที่ได้ตัดสินใจเลือกเรียนวิชานี้ และสร้างความเชื่อมั่นว่าหลังจากจบการศึกษาไปจะทำได้ถูกวิธีการเพราะได้สัมผัสอุปกรณ์ที่ใช้และวิธีการต่างๆที่ใช้ในคลังสินค้าจำลอง”
ธนาธิป จันทร์หอม นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการโลจิสติกส์และซับพลายเชน ม.รังสิต กล่าวว่า “คลังสินค้าจำลองเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากปกติการเรียนในห้องเรียนจะไม่เห็นภาพที่เป็นคลังสินค้าจำลองแบบนี้ คลังสินค้าจำลองทำให้เราเห็นภาพจริงๆ รู้ว่าการทำงานในคลังสินค้าเป็นแบบไหน ได้สัมผัสกับอุปกรณ์จริงๆ รู้จักการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในคลังสินค้าจริง ซึ่งตรงนี้ทำให้เราเข้าไปทำงานในคลังสินค้าจริงได้ง่ายขึ้น”
ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการทางด้านโลจีสติกส์ (RBS Warehouse) เปิดตัวเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีผู้บริหารของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ผู้บริหารของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติกส์ จำกัด และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดดังกล่าว