Last updated: 4 พ.ย. 2562 | 570 จำนวนผู้เข้าชม |
‘ดีอี’ เปิดไทม์ไลน์เปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เต็มรูปแบบภายใน 1 พ.ย.นี้ เตรียมอิงชุดหลักการ 5 ข้อของ “เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติ” (International Fact-Checking Network – IFCN) หนุนมาตรฐานศูนย์ฯ แห่งนี้สู่ระดับสากล ดึงความร่วมมือจากแพลตฟอร์มโซเชียลระดับโลก
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ที่ประชุม “คณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน” วันนี้ (29 สิงหาคม) สรุปสาระสำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เห็นชอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ข่าวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ
2.แนวทางการดำเนินงานโดยเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.แผนการดำเนินงานต่อไป เร่งรัดประสานความร่วมมือในการปฏิบัติกับเครือข่ายเฟซบุ๊ก ไลน์ กูเกิล และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง เอไอเอส ดีแทค และทรู 2. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงาน 20 กระทรวง รวมทั้งอีกกว่า 200 กรมและรัฐวิสากิจ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) และ 3.เปิดตัวเว็บไซต์ FACT checking Thailand มีการทำงานในลักษณะออนไลน์ และออฟไลน์
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อหนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ในการแก้ไขข่าวปลอมที่อยู่ในกระแสสังคมออนไลน์ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภัยพิบัติ, เศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร-หุ้น , ผลิตภัณฑ์สุขภาพ-สินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น และกลุ่มนโยบายรัฐบาล-ข่าวสารที่กระทบสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงในประเทศ
ในฐานะของประธานคณะกรรมการฯ ชุดนี้ รมว.ดีอี ยังได้เสนอที่ประชุมว่า การตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าว ควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบข่าวปลอมที่อิงอยู่กับมาตรฐานของ “เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติ” (International Fact-Checking Network – IFCN)” ซึ่งได้กำหนด“ชุดหลักการ” (code of principles) ของเครือข่ายไว้ประมาณ 5 ข้อ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกที่มีการทำงานด้านต่อต้านและป้องกันข่าวปลอมใช้อยู่ ได้แก่ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เป็นต้น รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลระดับโลกด้วย
สำหรับชุดหลักการ ที่คาดว่าจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินต่อประชาชน สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ จะครอบคลุมหัวข้อ ได้แก่ ความเที่ยงธรรมและความปราศจากอคติในการคัดเลือกข่าว, ความเป็นส่วนบุคคลกับสิทธิเสรีภาพของการนำเสนอข่าว, การขัดกันด้านผลประโยชน์ และผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง, ให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่าเทียมกัน, สามารถอธิบายกระบวนการการพิสูจน์ การตรวจสอบ แหล่งที่มาของบทความและข้อเท็จจริงต่างๆ ได้, มีความรู้เกี่ยวกับข่าวนั้นๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และโปร่งใส เป็นหน่วยงานที่อิสระ ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ เป็นต้น
“หากประเทศไทยเดินเข้าสู่มาตรฐาน IFCN ได้ ก็จะทำให้สามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มโซเชียลระดับโลกของเอกชนได้ด้วย เมื่อมีแจ้งผลการตรวจสอบข่าวปลอม และยืนยันข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งมีตัวแทนร่วมอยู่ในคณะกรรมการฯ ก็จะได้รับความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และสกัดกั้นการแพร่กระจายข่าวปลอมที่สร้างผลกระทบและความเสียหายในวงกว้าง ดังนั้น จะสนับสนุนให้ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างครบถ้วน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ว่าประเทศไทย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม และมีกระบวนการที่สร้างความมีส่วนร่วมกับประชาชนในการทำงานด้านนี้ โดยมุ่งให้ได้มาตรฐานสากล” นายพุทธิพงษ์กล่าว
สำหรับกรอบเวลาในการเปิดศูนย์ฯ อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าไว้ไม่เกินวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยระหว่างนั้นเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยจะเชิญตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจากทุกกระทรวง และทุกกรม/รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนตัวแทนสื่อมวลชนทุกภาคส่วน เข้ามาจัดกลุ่มทำเวิร์คชอปเป็น 4 กลุ่มตามชุดของคณะอนุกรรมการฯ สร้างให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
ในกิจกรรมดังกล่าวจะมีผู้ที่มีรายชื่อเป็น บุคคลที่ติดต่อได้ (Contact Persons) ของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงตัวแทนจากแพลตฟอร์มโซเชียลต่างประเทศมาร่วมด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การติดต่อสื่อสาร และการยืนยันผลกระทบถึงประชาชน ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สื่อสารถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างกระชับ ได้ใจความ และรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง
ทางด้านส่วนของการเปิดเวทีสาธารณะ จะเปิดให้สื่อมวลชน และผู้สนใจเข้ามาสอบถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้คำเสนอแนะสำหรับการทำงานของศูนย์ฯ แห่งนี้ โดยเป็นกิจกรรมที่จะทำก่อนการเปิดศูนย์ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
“ทั้งขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างจากทุกาคส่วนผ่านการเปิดเวทีสาธารณะ และขั้นตอนการจัดทำกิจกรรมเวิร์คชอปทั้งสองด้านนี้ต้องทำควบคู่กันไป” รมว.ดีอีกล่าว
สำหรับแนวทางเพื่อสร้างแนวร่วมในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ ที่จะสามารถเป็นแนวร่วมในการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม นอกเหนือจากเตรียมไปหารือเพิ่มเติมกับไลน์ เฟซบุ๊ก และกูเกิล ยังเตรียมหารือกับผู้ให้บริการมือถือทุกรายของไทย เพื่อเข้ามาทำงานร่วมกันด้วย เพราะเป็นภาคส่วนที่สำคัญมาก สื่อสารกับลูกค้าโดยตรงอยู่แล้ว ดังนั้น หากสามารถหาแพลตฟอร์มที่ไปถึงลูกค้าให้มาช่วยเผยแพร่ข่าวที่ได้รับการยืนยันแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนเพราะสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว