Last updated: 16 พ.ค. 2567 | 119 จำนวนผู้เข้าชม |
วางพอร์ตลงทุนเดือนพฤษภาคม เป็นโอกาสของตลาดหุ้นเอเชีย ทั้ง จีน – ฮ่องกง – เวียดนาม – ญี่ปุ่น โชว์ฟอร์มเด่น ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้จะยังเติบโตได้แต่อัพไซด์ค่อนข้างจำกัด จับตานโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวจนอาจนำไปสู่การลดดอกเบี้ย เป็นแรงหนุนราคาสินทรัพย์เสี่ยง
นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ในมุมกราฟเทคนิคตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงถือว่าได้ปรับตัวกลับมาเป็นขาขึ้น และมองเป็นโอกาสเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีพื้นฐานดีและมีแนวโน้มเติบโต หรือ ลงทุนผ่านดัชนี
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านเศรษฐกิจจีน โดยในไตรมาสที่ผ่านมามีการเติบโตที่เหนือกว่าคาดการณ์ แตะที่ระดับ 5.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถึงแม้จีนจะยังมีปัญหาเรื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์คอยกดดัน แต่หุ้นเติบโตสูง เช่น กลุ่มเทคโนโลยี สามารถฟื้นตัวกลับมาได้แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจับตา คือกลุ่มอีคอมเมิร์ซ กลุ่มที่พัฒนาเทคโนโลยีเอไอ และกลุ่มที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนกลุ่มที่ยังมีความไม่ชัดเจน คือกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า เพราะมีประเด็นเรื่องของการแข่งขันที่รุนแรงด้วยการตัดราคา อาจจะยังไม่ใช่จังหวะในการเข้าไปลงทุน แต่ให้มองในกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากรถยนต์ไฟฟ้า เช่น กลุ่มผลิตแบตเตอรี่แทน
“แม้ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงจะมีความผันผวนสูง แต่การที่ราคาเพิ่งเริ่มฟื้นตัว มูลค่าหุ้นที่ค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต มองเป็นโอกาสที่จะพิจารณาใส่ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงไว้ในลิสต์ของการจัดพอร์ตตั้งแต่เดือนนี้”
อีกตลาดหุ้นในเอเชียที่น่าสนใจ คือตลาดหุ้นเวียดนาม แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะเติบโตได้เพียง 5.66% น้อยกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ แต่ภาพรวมยังถือว่าเติบโตสูงกว่าประเทศอื่น ๆ จากการที่มีเม็ดเงินลงทุนทางตรง หรือ FDI เข้ามาเป็นมูลค่ามหาศาล และระยะยาวยังมีโอกาสถูกบรรจุให้อยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ทำให้เวียดนามน่าสนใจที่จะลงทุนระยะยาว
ปัจจัยทางเทคนิคยังบอกว่าหาก Vietnam Index สามารถทะลุผ่าน 1300 จุด ซึ่งเป็นแนวต้านสำคัญไปได้ มีโอกาสที่จะกลับไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ 1537 จุด ซึ่งจะมีอัพไซด์เกินกว่า 10% และยังเป็นการตั้งฐานราคาที่จะสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ต่อเนื่องจากการเป็นขาขึ้นในรอบใหญ่ จึงเป็นหนึ่งสินทรัพย์ที่ต้องจับตาในเดือนนี้เช่นกัน
ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น หลังจากปรับฐานลงมา 10% ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง สามารถจับจังหวะในการลงทุนระยะกลางได้ ด้วยแนวโน้มตลาดที่ยังเป็นขาขึ้นและได้แรงหนุนจากการที่เงินเยนอ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อการส่งออกและท่องเที่ยว
สำหรับประเด็นเศรษฐกิจมหภาค ต้องจับตานโยบายธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ที่อาจจะกลับลำมาลดดอกเบี้ยจากก่อนหน้านี้มีกระแสว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้ง แต่จากการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-Farm Payroll) ล่าสุดออกมาต่ำกว่าที่คาดค่อนข้างมาก ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้ดอลลาร์กลับมาอ่อนค่า ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจยังอ่อนแอลงต่อเนื่อง รวมถึงเงินเฟ้อลดลงอาจทำให้ FED ต้องลดดอกเบี้ยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ
ขณะที่การประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ประกาศตัวเลขออกมาดีกว่าคาดเกือบทั้งหมด ยกเว้นหุ้น Tesla และ Apple ที่มีการประกาศซื้อหุ้นคืนด้วยมูลค่าที่สูงเป็นประวัติการณ์ เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งสามให้ยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้
“ความคาดหวังที่จะเห็น FED ลดดอกเบี้ยเป็นแรงผลักดันให้หุ้นเทคโนโลยียังสามารถปรับตัวขึ้นได้ แม้มีแรงขายเข้ามาค่อนข้างแรง เช่น Nvidia ที่ปรับตัวฟื้นขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือ Tesla ที่แม้ว่างบจะออกมาแย่แต่หุ้นก็ขึ้น ทำให้ภาพระยะสั้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเป็นขาขึ้น แต่กลยุทธ์น่าจะเป็นการเทรดระยะสั้นถึงกลางเป็นหลัก เพราะอัพไซด์ค่อนข้างจำกัด ต่างจากตลาดหุ้นจีนที่มีอัพไซด์สูงกว่า”
ส่วนแนวโน้มของสินทรัพย์ทางเลือก ทองคำและบิทคอยน์ ในภาพใหญ่ยังคงเป็นขาขึ้น แต่ในระยะสั้นช่วง 1-2 เดือนนี้ อาจจะเป็นช่วงของการพักฐาน โดยมีดาว์นไซด์ที่จำกัด ถ้าหากมีความชัดเจนของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย คาดว่าทั้งสองสินทรัพย์นี้จะกลับมาสร้างผลตอบแทนได้ดีอีกครั้ง มองเป้าระยะยาวจนถึงช่วงสิ้นปีนี้ ทองคำยังมีโอกาสขึ้นทดสอบระดับ 2,500 ดอลลาร์ ส่วนบิทคอยน์ปีนี้อาจได้เห็นราคาตั้งแต่ 80,000 ดอลลาร์ จนถึงระดับใกล้เคียงหนึ่งแสนดอลลาร์