Last updated: 11 ม.ค. 2566 | 239 จำนวนผู้เข้าชม |
• คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดย กกร.ได้จัดประชุมคณะกรรมการฯ ประจำเดือนพฤศจิกายน โดยมี นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. เป็นประธานในการประชุม และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม
• นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร. กล่าวว่า ที่ประชุม กกร. ได้ประเมินเศรษฐกิจ ดังนี้
• การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดของจีนอาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ในช่วงต้นของการผ่อนคลาย มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและการส่งออก ภาคการผลิตของจีนจึงหดตัวลงเพิ่มเติมในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการควบคุมที่เข้มงวดคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเดินหน้าฟื้นตัวได้มากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะสามารถเติบโตได้ระดับ 5% ตามเป้าหมายได้ หลังจากที่เติบโตต่ำกว่าเป้าหมายในปีที่ผ่านมา จะช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากเกินไปในภาวะที่ยังเผชิญแรงกดดันจากราคาพลังงานในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
• เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย 11.1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา มากกว่าที่คาดการณ์ ช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวได้ โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 63% เข้าใกล้ระดับปกติที่ 77% และในปีนี้ มีปัจจัยหนุนจากการที่ประเทศจีนเปิดประเทศโดยผ่อนคลายมาตรการกักตัวภาคบังคับ ตั้งแต่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งน่าจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจสูงได้ถึง 20 – 25 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังคงมีความกังวลถึงปัญหาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขาดแคลน จึงจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางในการดึงกลุ่มแรงงานกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้เพียงพอในการรองรับการฟื้นตัวดังกล่าวต่อไป
• สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว แม้ว่าแนวโน้มของภาคการท่องเที่ยวจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคการส่งออกมีสัญญาณการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายของภาคเอกชน ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0% ถึง 2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2%
นอกจากนี้ กกร. ยังได้มีความเห็นเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ดังนี้
• ผลกระทบต่อดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม จากการยกเลิกการผ่อนปรนเงินนำส่งกองทุน FIDF
ให้กลับเข้าสู่อัตราปกติที่ 0.46% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 0.23% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.4% ต่อปี ตามที่ได้เคยปรับลดไปช่วงก่อนหน้า โดยสมาคมธนาคารไทยยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และทันการณ์ ครอบคลุมทั้งการลดภาระทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม พร้อมทั้งจะเร่งผลักดันมาตรการอื่นๆ เช่น สินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต รวมถึงโครงการพักทรัพย์พักหนี้ สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ทั้งนี้จะได้มีการติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด
• สำหรับประเด็นค่าไฟฟ้า (Ft) ที่ในช่วงที่ผ่านมา กกร. ได้มีข้อเสนอแนะและหารือกับรัฐบาล เพื่อหาแนวทางออกที่เหมาะสมเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าไฟเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานของภาคเอกชน กกร. ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนของภาคเอกชน ถึงแม้ไม่ได้ตรึงราคาตามข้อเสนอของภาคเอกชน ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงบางส่วนโดยไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังหวังว่าตลอดทั้งปีนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากทุกภาคส่วน โดย กกร. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน task force ด้านพลังงาน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs วางแผนและนำเสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยภาคเอกชนก็พร้อมที่จะปรับตัวในการใช้พลังงานทางเลือกให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงในปีนี้ โดยจะต้องวางแผนในระยะยาวให้มีความสมดุลทั้งด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ การดูแลสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการแข่งขันต่อไป
• สำหรับการที่ประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นประธาน BIMSTEC วาระปี 2565-2566 (ตั้งแต่ เมษายน - สิงหาคม 2566) ภายใต้วิสัยทัศน์ BIMSTEC Bangkok Vision 2030 ที่มุ่งเสริมสร้างให้ประเทศสมาชิก มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง (Prosperous,Resilient, Open: PRO BIMSTEC) ภายในปี ค.ศ. 2030 ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานในกรอบ BIMSTEC เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กกร.จึงมีมติดังนี้ 1) เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่างข้อเสนอของภาคเอกชนเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC เพื่อนำเสนอข้อเสนอต่อภาครัฐ 2) เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศ เจรจากับสมาชิก BIMSTEC เพื่อขอให้จัดตั้ง Business Advisory Council - BIMSTEC BAC เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งถือว่าไทยเป็นผู้ริเริ่มในฐานะเจ้าภาพ 3) เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศ ควรมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Advisory Council- BAC) ในทุกกรอบความร่วมมือ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นต้น
• กกร. ยังได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ กับ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย(TMA) ในการขับเคลื่อนโครงการ“Enhancing SMEs Capability for Competitiveness (Pilot Project)”เพื่อยกระดับศักยภาพของ SMEs ไทย ให้แข่งขันได้ในระดับสากล โดยมุ่งเป้าเป็นโครงการต้นแบบของกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งระยะแรกจะนำร่องคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ทั้งภาคการผลิต การค้าและบริการ ไม่น้อยกว่า 30 ราย เข้าร่วมโครงการ มีรูปแบบการดำเนินโครงการในลักษณะการดูแลและเร่งรัดให้ SME เติบโตอย่างรวดเร็ว (Acceleration) ผ่านระบบพี่เลี้ยง (Mentor) และผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ (Coach) อย่างใกล้ชิด โดยระหว่างการดำเนินโครงการจะมีการเก็บข้อมูลที่จำเป็นของผู้ประกอบการทั้งก่อนและหลัง เพื่อประเมินและขยายผลไปยังกลุ่มอื่นๆ ในระยะต่อไป