Last updated: 8 ต.ค. 2564 | 301 จำนวนผู้เข้าชม |
วช. ร่วมกับ สผ. จัดประชุม Focus Group ประเด็นท้าทาย : พัฒนาดัชนี SDG ของประเทศ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเป้าหมาย SDGs ในมิติสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาสถานะของประเทศไทยทางด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมตามตัวชี้วัดของเป้าหมาย 12, 13, 14 และ 15 จากการพิจารณาเปรียบเทียบกับสถานะของกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) กลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และระดับโลกระหว่างตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม และดำเนินงานภายใต้โครงการเรื่อง “สถานะประเทศไทยจากดัชนีชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs Index)” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.กาญจนา ส่งวัฒนา รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นหัวหน้าโครงการ สืบเนื่องจากผลจากการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับระดับตัวชี้วัดในรายงาน SDGs Report 2021 พบว่า SDG 12 และ SDG 13 ของประเทศไทยอยู่ในสถานะมีความท้าทายสำคัญยังคงอยู่ (สีส้ม) ส่วน SDG 14 และ SDG 15 ของประเทศไทย อยู่ในสถานะมีความท้าทายมาก (สีแดง) จากการรายงาน SDGs Report ที่อาจมีความคาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในแต่ละประเทศ ด้วยข้อจำกัดของข้อมูล ทำให้ข้อมูลในรายงานอาจไม่สามารถแสดงถึงสถานภาพจริงของแต่ละ SDG ของประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการประชุม Focus Group ประเด็นท้าทาย: พัฒนาดัชนี SDGs ของประเทศในรูปแบบ Online Conference ผ่านโปรแกรม Zoom เป็นเวลาสองวัน
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา วช. ร่วมกับ สผ. จัดประชุม Focus Group ประเด็นท้าทาย: พัฒนาดัชนี SDG 12 และ SDG 13 ของประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
มุ่งสู่นโยบาย BCG โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และนายประเสริฐ ศิรินภาพร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมฯ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กรมควบคุมมลพิษ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 95 คน ร่วมกันระดมความเห็นและข้อเสนอแนะทางวิชาการในการพัฒนาดัชนี SDG 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้น
และเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 วช. ร่วมกับ สผ. จัดประชุม Focus Group ประเด็นท้าทาย: พัฒนาดัชนี SDG 14 และ SDG 15 ของประเทศ เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และพัฒนาทะเลไทยมุ่งสู่Blue Economy โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และนายประเสริฐ ศิรินภาพรรองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมฯ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรน้ำ และกรมประมง ตลอดจนผู้ที่เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 125 คน ร่วมกันระดมความเห็นและข้อเสนอแนะทางวิชาการในการพัฒนาดัชนี SDG 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟูและสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน การจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน ต่อสู้กับการกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากการประชุมทั้งสองวันได้มีข้อสรุปโดยสังเขปเพื่อให้เกิดการยกระดับดัชนีชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม SDG 12, 13, 14 และ 15 ว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับข้อมูลที่จะใช้ตอบเป้าหมาย SDGs จึงควรมีการทบทวนข้อมูลดังกล่าว โดยอ้างอิงตัวเลขจากหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งควรเป็น unity เดียวกัน ซึ่งเสนอให้จัดทำเป็น metadata ของประเทศ โดยใช้กลไกการวิจัยและนวัตกรรมช่วยสนับสนุน ประกอบกับความร่วมมือของทุกภาคส่วนและการบูรณาการกันให้หลายหน่วยงานร่วมกันยกระดับสถานะของประเทศไทยทางด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนจนบรรลุเป้าหมาย นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
26 ก.ค. 2567