อพวช. เปิดคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยา พร้อมเจาะลึกศูนย์ทำ Taxidermy ยืนหนึ่งผู้เชี่ยวชาญการสตัฟฟ์สัตว์อันดับต้นของประเทศ

Last updated: 20 ต.ค. 2563  |  634 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อพวช. เปิดคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยา พร้อมเจาะลึกศูนย์ทำ Taxidermy  ยืนหนึ่งผู้เชี่ยวชาญการสตัฟฟ์สัตว์อันดับต้นของประเทศ


องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดบ้านพาชม “ศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสตัฟฟ์สัตว์” หวังปลูกฝังแนวคิดให้คนไทยร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า และเสริมสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาแก่ประชาชนในวงกว้าง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและการเรียนรู้ของคนในสังคม พร้อมทั้งเจาะลึกเรื่องราวการทำ Taxidermy ถือเป็นศูนย์ที่เชี่ยวชาญการสตัฟฟ์สัตว์ที่มีความพร้อมและสมบูรณ์ที่สุดในอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย



ดร.นพรัตน์ เทพเทพา ผู้อำนวยการสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. เปิดเผยว่า “อพวช. เป็นหน่วยงานซึ่งมีภารกิจหลักในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสตัฟฟ์สัตว์ เป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีการสตัฟฟ์สัตว์เพื่อการเก็บรักษา และจัดแสดงผ่านตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์เกือบทุกกลุ่ม ซึ่งการสตัฟฟ์สัตว์เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับศิลปะทำให้สัตว์ที่ตายแล้วมีท่าทางเสมือนสัตว์เหล่านี้ยังมีชีวิตในอิริยาบถที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เพื่อใช้สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการ พร้อมทั้งใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิงทางวิชาการและศึกษา วิจัย ให้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งทาง อพวช. ถือเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์อันดับต้น ๆ ของประเทศ ที่มุ่งมั่นทำการศึกษาและพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจังมาโดยตลอดและเป็นที่ยอมรับระดับประเทศอีกด้วย”

การสตัฟฟ์สัตว์ หรือ Taxidermy เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับศิลปะ เพื่อให้ผลงานออกมาเสมือนจริงมากที่สุด โดยเฉพาะกายวิภาคเฉพาะของสัตว์ชนิดนั้นๆ ที่ใช้ในการคงสภาพร่างกายสัตว์หลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ให้เก็บรักษาอยู่ได้นาน และยังคงลักษณะของสัตว์ไว้ได้เหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ไม่ให้ชำรุดเสียหาย จากความร้อน ความชื้น แมลง เชื้อรา หนูและแมลงสาบ ที่อาจทำความเสียหายต่อสัตว์สตัฟฟ์ได้ รวมถึงการตกแต่งลักษณะภายนอกให้ครบสมบูรณ์ ถูกต้อง และสวยงาม เหมือนกับการได้ชุบชีวิตสัตว์ตัวหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้วกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง


ด้าน นายวัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการกองศูนย์บริหารคลังตัวอย่าง นัก Taxidermist  ผู้เชี่ยวชาญ​ด้านการ​สตัฟฟ์​สัตว์ของ​ อพวช.​ กล่าวว่า “นักธรรมชาติวิทยา ของ อพวช. ได้ทำการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาและการเก็บรักษาวัสดุตัวอย่างด้านธรรมชาติวิทยามาโดยตลอด โดยเฉพาะการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคสมัยใหม่อย่าง Taxidermy

ด้วยความพร้อมทางด้านบุคลากร สถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เราจึงได้มีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการสตัฟฟ์สัตว์ให้แก่นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจอีกด้วย โดยที่ผ่านมา อพวช. ได้ทำการสตัฟฟ์สัตว์มาอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนกว่า 478 ตัว อาทิ เสือโคร่ง ยีราฟ ม้าลาย จระเข้ ปลาช่อนอเมซอน ฯลฯ

ซึ่งได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้ พัทยา และโรงพยาบาลสัตว์ เป็นต้น ซึ่งได้นำสัตว์ที่เสียชีวิตแล้วมาให้ทางเราดำเนินการต่อแทนที่จะต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าไป โดย อพวช. สามารถชุบชีวิตสัตว์ที่ตายไปแล้วให้กลับมาเหมือนมีชีวิตอีกครั้ง เพื่อนำมาจัดแสดงนิทรรศการให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ ถือเป็นประโยชน์และมิติใหม่ของแนวทางการจัดนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและกลายเป็นสมบัติของประเทศชาติต่อไป และสิ่งสำคัญคือการได้สร้างการรับรู้ถึงบทบาทของ อพวช. ในด้านนี้ เพื่อหวังสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนที่มีความสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวทางสู่เส้นทางสายอาชีพของการเป็นนัก Taxidermist สำหรับเยาวชนในอนาคตต่อไป”


ซึ่งในครั้งนี้ อพวช. ได้เปิดโอกาสพิเศษให้สื่อมวลชนได้ชมการสาธิตวิธีการสตัฟฟ์​ปูแสม และฝึกปฏิบัติ​เพ้นท์สีปูแสมและการทำถิ่นที่อยู่อาศัยจำลองของปูแสม พร้อมพาชมสถานที่ทำงานของนัก Taxidermist       และเรียนรู้วิธีการเก็บรักษาหนังสัตว์​ด้วยวิธีการ​ฟอกหนัง บอกเล่าเทคนิคการปั้นหุ่น​สัตว์​ หล่อหุ่นสัตว์และการทดลอง​คลุม​หนังสัตว์ พร้อมพาชมห้องคลังตัวอย่างที่เก็บสัตว์​สตัฟฟ์เอาไว้มากมายสำหรับการศึกษา​วิจัยอีกด้วย



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้