EISA แพลตฟอร์มด้านการศึกษาของไทยเบฟ ผนึกกำลัง ประชารัฐรักสามัคคีบุรีรัมย์และราชมงคลพระนคร ปั้น 3 หมู่บ้านท่องเที่ยว สร้างพลังการสื่อสารให้ชุมชน

Last updated: 4 พ.ย. 2562  |  1520 จำนวนผู้เข้าชม  | 

EISA แพลตฟอร์มด้านการศึกษาของไทยเบฟ ผนึกกำลัง ประชารัฐรักสามัคคีบุรีรัมย์และราชมงคลพระนคร ปั้น 3 หมู่บ้านท่องเที่ยว สร้างพลังการสื่อสารให้ชุมชน

3 หน่วยงาน ประสานพลังสร้าง 3 หมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชน จังหวัดบุรีรัมย์ จัดอบรมเทคนิคการใช้สื่อสังคมออนไลน์และผลิตคลิปประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว มุ่งเพิ่มรายได้ครัวเรือนและชุมชน

โครงการ EISA แพลตฟอร์มด้านการศึกษาของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีบุรีรัมย์ จำกัด และคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จัดโครงการอบรม “การพัฒนาทักษะการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อประชาสัมพันธ์ชุมชน” มุ่งสร้างศักยภาพการสื่อสารในยุคดิจิทัลให้แก่สมาชิกจากชุมชนบ้านสวายสอ ชุมชนบ้านสนวนนอก และชุมชนบ้านตาลอง

พร้อมผลิตคลิปแนะนำชุมชนสวายสอผ่านมุมมองของนักท่องเที่ยว GEN Z เจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในชุมชนให้ขยายตัวมากขึ้น

โครงการ EISA แพลตฟอร์มด้านการศึกษาของไทยเบฟ กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนและสังคม และการพัฒนาการศึกษา เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ การจัดโครงการในครั้งนี้นับว่ามีประโยชน์ในหลายด้าน เพราะนอกจากสมาชิกชุมชนเป้าหมายจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคนิคด้านการสื่อสารจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปต่อยอดการประชาสัมพันธ์กิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนแล้ว นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกว่า 30 คน ยังได้โอกาสทำงานในพื้นที่ เพื่อเป็นสนามทดลองความพร้อมก่อนเข้าสู่การทำงานจริง สอดคล้องนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของไทยเบฟ ในการสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าคืนสู่สังคมอย่างแท้จริง

ขณะที่ นายสุรพล เศวตเศรณี ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีบุรีรัมย์ จำกัด เชื่อมั่นว่า การเสริมสร้างทักษะการสื่อสารให้ชุมชนจะช่วยให้ชุมชนสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาและผลิตสื่อสังคมออนไลน์ได้ด้วยตนเอง นับเป็นปัจจัยที่จะสร้างความสำเร็จให้การท่องเที่ยวโดยชุมชน เพราะผู้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนได้ดีที่สุด คือ คนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนกระบวนการทำงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งประกอบด้วย ภาคเอกชนที่ช่วยขับเคลื่อนผ่านโครงการพี่ช่วยน้อง ภาควิชาการให้องค์ความรู้ และภาคประชาชนมีหน้าที่ลงมือทำ ทั้งหมดเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนและประชาชนมีความสุขตามเป้าหมายของประชารัฐรักสามัคคี

สำหรับหน่วยงานด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร รองศาสตราจารย์ สุภัทรา โกไศยกานนท์ รักษาการราชแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กล่าวว่า การอบรมให้สมาชิกในชุมชนจะช่วยยกระดับความสามารถด้านการสื่อสารให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง นับเป็นการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education)  ส่วนอาจารย์และนักศึกษาจะเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Action Learning) ทั้งการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน เป็นการตอบโจทย์รูปแบบการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับบุคคล ชุมชนและประเทศต่อไปในอนาคต

ด้าน อาจารย์อรรถการ สัตยพาณิชย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการอบรมว่า ปัจจุบันการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการผ่านเฟสบุ๊คได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารมีลักษณะเป็นมิตรกับผู้ใช้ (user-friendly technology) คือ มีความง่ายในการใช้งานและสามารถเข้าถึงคนเป็นจำนวนมากได้  การเสริมความรู้เกี่ยวกับเทคนิคในการใช้เฟสบุ๊คและเทคนิคการถ่ายภาพแบบมืออาชีพให้แก่สมาชิกชุมชนจึงมีความจำเป็น เพราะสามารถช่วยพัฒนาช่องทางการสื่อสารของชุมชนให้น่าสนใจและมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ชุมชนเป็นที่รู้จักและเกิดการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้